เนื้อเรื่องจากจิตรกรรมฝาผนัง

บริเวณฝาผนัง เหนือหน้าต่างช่องที่สอง (พื้นที่ตอนล่างฝั่งซ้ายและด้านบน) ถ่ายทอดเนื้อหาจาก กัณฑ์ที่ 9 ตโยเสฏฐีธิตาเปสนกัณฑ์ ซึ่งเป็นตอนกลางของเรื่อง เล่าเหตุการณ์ที่เจ้าจันทคาธปราบปรามสิ่งชั่วร้ายในเมือง และค้นพบขุมทรัพย์ทองคำ จึงนำทรัพย์ที่ได้มาทำบุญถวายแก่สมณพราหมณ์และแจกทานแก่ยาจกวณิพพก เพื่อสั่งสมบารมี

ในฉากสำคัญของภาพ ชาวเมืองได้ร่วมกันนิมนต์พระภิกษุสงฆ์มาทำพิธีขับไล่ภูตผีร้าย ข้อความกำกับภาพที่ปรากฏในอักษรล้านนาเหนือหญิงสองคนด้านซ้ายของหน้าต่าง อ่านได้ว่า “ไปฮอมตานเจ้าจันทคาด” แปลว่า “ไปร่วมทำบุญกับเจ้าจันทคาธ” ส่วนอักษรล้านนาด้านซ้ายบนที่อยู่บริเวณผีเย็นสองตนนั้น เป็นเนื้อหาส่วนหนึ่งของตอนกลางในกัณฑ์เดียวกัน

ภาพยังถ่ายทอดบรรยากาศการเฉลิมฉลองของชาวเมือง เช่น การหุงหาอาหารเพื่อเลี้ยงพระและประชาชน โดยวาดภาพภาชนะเครื่องครัวแบบพื้นเมืองล้านนา เช่น กระทะขนาดใหญ่ หม้อขาง และหวดนึ่งข้าวอย่างประณีต


ลักษณะทางศิลปกรรมและการแต่งกาย

ลักษณะศิลปกรรม ของจิตรกรรมฝาผนังในห้องนี้แสดงอิทธิพลของศิลปะพื้นเมืองล้านนาอย่างชัดเจน ทั้งในเชิงโครงสร้างภาพ การจัดองค์ประกอบ และการสอดแทรกกิจวัตรชีวิตชาวบ้าน

การแต่งกายของตัวละคร

    • ชายชาวเมือง ปรากฏในลักษณะเปลือยอก ใช้ผ้าแถบสีเรียบโพกศีรษะ และนุ่งผ้าลวดลายแบบ “นุ่งผ้าต้อย” หรือ “เค็ดม่าม” ซึ่งเป็นการนุ่งผ้าด้วยการม้วนเป็นเกลียวสอดระหว่างขา คล้ายการถกเขมรหรือโจงกระเบน เผยให้เห็นลวดลายสักยันต์สัตว์หิมพานต์ที่สักตั้งแต่ท้องน้อยจรดหัวเข่า

      ผมทรงมหาดไทย คือ ไว้ผมเฉพาะกลางศีรษะ ส่วนรอบศีรษะโกนเกลี้ยง ไม่สวมรองเท้า

    • หญิงชาวเมือง แต่งกายด้วยการเปลือยอก ใช้ผ้าแถบห่มเฉียงแบบสไบ (เรียกว่า “สะหว้ายแหล้ง” หรือ “เบี่ยงบ้าย”) นุ่งผ้าซิ่นทอพื้นเมือง เช่น “ซิ่นป้อง” ที่มีลวดลายแนวขวางเฉพาะแบบเมืองน่าน บางส่วนของซิ่นตกแต่งด้วยเทคนิค “ยกมุก” หรือ “ยกขิด”

      ผมเกล้ามวยกลางศีรษะ เรียกว่า “วิดว้อง” และประดับหูด้วย “ลานหู” ทำจากแผ่นเงินหรือทองคำบาง ๆ ม้วนสอดเข้าไปในหู

Leave a Comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *