
April 24, 2025
กัณฑ์ที่ 13 นครกัณฑ์
กัณฑ์ที่ 13 นครกัณฑ์ (ประกอบด้วยคาถา 46 คาถา)
ดร. พิสิฏฐ์ โคตรสุโพธิ์ ผู้เขียน
ว่าด้วย พระเจ้ากรุงสัญชัย และชาวนคร ขอขมาโทษพระเวสสันดรที่ขับไล่ออกจากเมืองโดยไม่พิจารณา ครั้นพระเวสสันดรลาผนวช ก็ประกอบพิธีราชาภิเศกที่พลับพลามงคล ที่บริเวรอาศรมนั้น กำหนดฤกษ์ยกขบวนเสด็จนิวัตกลับพระนคร พร้อมด้วยพระเกียรติยศอันยิ่งใหญ่ด้วยจาตุรงคเสนา พระองค์เสด็จขึ้นคชสารปัจจัยนาค ช้างพระที่นั่งท่ามกลางเสนาอามาตย์ราชบริพาร เดินทางรอนแรมมาอย่างสบาย มิได้เร่งร้อน เป็นเวลาสองเดือนก็ถึงพระนครสีพี
บาลีว่า
คาถาที่ 955 (1257) ธมฺเมน รชฺชํ กาเรนฺตํ รฏฺฐา ปพฺพาชยิตฺถ มํ
ตฺวญฺจ ชานปทา เจว เนคมา จ สมาคมา ฯ
(แปล)ฝ่าพระบาท ชาวชนบทและชาวนิคม พร้อมใจกันเนรเทศข้าพระบาทผู้ครองราชสมบัติโดยธรรม จากแว่นแคว้น
คาถาที่ 1,000 (1269) ตโต เวสฺสนฺตโร ราชา ทานํ ทตฺวาน ขตฺติโย
กายสฺส เภทา สปฺปญฺโญ สคฺคํ โส อุปปชฺชถาติ ฯ
(แปล) ลำดับนั้น พระเวสสันดรบรมกษัตริย์ผู้มีพระปัญญา ทรงบำเพ็ญทานแล้ว ครั้นสวรรคต พระองค์ก็ได้เสด็จเข้าถึงสวรรค์ ฉะนี้แล
ความไทยว่า
เมื่อพระเวสสันดรราชฤาษีได้สดับคําพระราชบิดา ตรัสเชื้อเชิญให้ลาผนวชออกไปครองราชสมบัติ ก็รับสั่งทูลพ้อพระราชบิดา ประวิงการรับอาราธนาไว้พลางก่อนว่า เมื่อกระหม่อมฉันปฏิบัติราชการกรณียกิจโดยทศพิธราชธรรมแล้ว ไฉนพระราชบิดาจึงลงโทษเนรเทศจากพระนคร มารับความทุกข์ยากแค้นแสนสาหัสในพงไพรไม่สมควรเลย พระเจ้าข้า ?
พระเจ้ากรุงสัญชัยตรัสสารภาพรับผิด เป็นด้วยพ่อ เขลา หลงเชื่อคนยุยงลงโทษลูก ซึ่งหาความผิดมิได้ ตรัสขอขมาโทษ และตรัสวอนพระราชโอรสให้ลาผนวชออกไป รับราชสมบัติเถิด
ต่อนั้นพระเวสสันดรจึงทรงรับเชิญ ทรงลาผนวชพร้อมทั้งนางมัทรี เจ้าพนักงานภูษามาลาขอให้สรงสนาน ชำระพระวรกายพระเวสสันดรเข้าไปภายในบรรณศาลา เปลื้องเครื่องฤาษีเก็บไว้ ทรงเครื่องสีขาวออกมา ทำประทักษิณรอบบรรณศาลา 3 รอบ แล้วกราบเบญจางประดิษฐ์ ด้วยความกตัญญูต่อสถานที่ว่า เป็นที่ให้การพำนักเพื่อบำเพ็ญสมณธรรม ตั้ง 9 เดือนครึ่ง
เจ้าพนักงานมีภูษามาลาเป็นต้น ก็ทำกิจมีเจริญพระเกสา และพระมัสสุเป็นต้น ชนทั้งหลายได้อภิเษกพระเวสสันดร ผู้ประดับด้วยราชาภรณ์ทั้งปวงผู้รุ่งเรืองดุจเทวราช ในราชสมบัติ
ฝ่ายนางกัญญาทั้งปวงให้พระนางมัทรีสนานพระกาย แล้วตกแต่งพระองค์ถวายอภิเษก เมื่อถวายการรดน้ำสำหรับอภิเษก ณ พระเศียรแห่งพระนางมัทรี ได้กล่าวมงคลทั้งหลายเป็นต้นว่า “ขอพระเวสสันดรจงทรงอภิบาลพระแม่เจ้า ขอพระชาลีและพระกัณหาชินาทั้งสองพระองค์ จงอภิบาลพระแม่เจ้า อนึ่ง ขอพระเจ้าสัญชัยมหาราช จงคุ้มครองรักษาพระแม่เจ้าเถิด”
พระนางมัทรีได้ตรัสแก่พระโอรสพระธิดาว่า “แน่ะลูกรักทั้งสอง เมื่อก่อนแม่กินอาหารมื้อเดียว นอนเหนือแผ่นดินเป็นนิตย์ แม่ได้ประพฤติอย่างนี้ เพราะใคร่ต่อลูก วัตรนั้นสำเร็จแล้วแก่แม่ในวันนี้ เพราะอาศัยลูกทั้งสอง วัตรนั้นเกิดแต่แม่ก็ตาม เกิดแต่พ่อก็ตาม จงอภิบาลลูก อนึ่ง ขอพระมหาราชสัญชัยจงคุ้มครองลูก บุญอย่างใดอย่างหนึ่งซึ่งแม่และพ่อได้บำเพ็ญไว้ จงสำเร็จแก่ลูก ด้วยอำนาจบุญกุศลนั้นทั้งหมด ขอลูกจงอย่าแก่ (เร็ว) อย่าตาย (เร็ว)”
เครื่องทรงพระนางมัทรี พระนางผุสดีราชเทวีได้ประทานกัปปาสิกพัสตร์ โขมพัสตร์ และ โกทุมพรพัสตร์ อันเป็นเครื่องทรงงดงามแก่พระนางมัทรีผู้พระสุณิสา แต่นั้น พระนางเจ้าประทานเครื่อง ประดับ พระศอแล้วไปด้วยทองคำ เครื่องประดับต้นพระกร เครื่องประดับบั้นพระองค์แล้วไปด้วยแก้วมณี เครื่องประดับพระศออีกชนิดหนึ่ง สัณฐานดุจผลอินทผลัมแล้วไปด้วยทองคำ เครื่องประดับพระศอแล้วไปด้วยรัตนะ เครื่องประดับพระนลาตซึ่งขจิตด้วยสุวรรณเป็นต้น เครื่องประดับวิการด้วยสุวรรณ ส่วนพระกายมีพระทนต์เป็นอาทิ เครื่องประดับมีพรรณต่างๆ แล้วไปด้วยแก้วมณี เครื่องประดับทรวง เครื่องประดับบนพระอังสา เครื่องประดับบั้นพระองค์ชนิดแล้วไปด้วยสุวรรณและหิรัญ เครื่องประดับที่พระบาทและเครื่องประดับที่ปักด้วยด้ายและมิได้ปักด้วยด้าย อันเป็นเครื่องงดงามแห่งพระนางมัทรีผู้พระสุณิสา
ความสง่างามของพระนางมัทรี พระนางมัทรีผู้ราชบุตรีทรงเพ่งพินิจพระวรกายอันยังบกพร่องด้วยเครื่องประดับนั้น ๆ ก็ทรงประดับให้บริบูรณ์ งดงามดุจเทพกัญญาในนันทวัน พระนางมัทรีสนานพระเศียร ทรงพระภูษาอันสะอาด ประดับด้วยราชปิลันธนาภรณ์ทุกอย่าง งามดุจเทพอัปสรในดาวดึงส์พิภพ วันนั้น เสด็จลีลาศงามดังกัทลีชาติต้องลมที่เกิดอยู่ ณ จิตรลดาวัน สมบูรณ์ด้วยริมพระโอษฐ์มีสีแดง ดังผลตำลึงและพระนางมีพระโอษฐ์แดงดังผลนิโครธสุกงาม ประหนึ่งกินรี อันเรียกว่ามานุสินี เพราะเกิดมามีสรีระดุจมนุษย์ มีปีกอันวิจิตรกางปีกร่อนไปในอัมพรวิถี
พระเวสสันดรและพระนางมัทรี กษัตริย์ทั้งสองพระองค์เสด็จเข้ามงคลราชพิธีราชาภิเศก ในมงคลสถานซึ่งเจ้าพนักงานจัดสร้างขึ้นในบริเวณอาศรมนั้น และเสด็จไปสู่กองทัพด้วยพระอิสริยยศใหญ่
ฝ่ายพระเจ้าสัญชัยประพาสเล่นตามภูผาและป่า ประมาณหนึ่งเดือนกับด้วยทวยหาญ 12 อักโขภิณี พาลมฤคและนกในป่าใหญ่ถึงเพียงนั้น มิได้เบียดเบียนสัตว์ไรๆ
พระเจ้าสัญชัยเรียกเสนาคุตอมาตย์มาตรัสถามว่า เราทั้งหลายอยู่ในป่ากันนานแล้ว มรรคาเสด็จของบุตรเรา พวกเจ้าตกแต่งแล้วหรือ ครั้นเหล่าอมาตย์กราบทูลว่า ตกแต่งแล้ว และทูลเชิญเสด็จว่า ถึงเวลาเสด็จแล้ว จึงโปรดให้ทูลพระเวสสันดร ให้ตีกลองป่าวร้องให้ทราบกาลเสด็จกลับพระนคร แล้วทรงพากองทัพเสด็จกลับ พระเวสสันดรเสด็จนิวัติยาตราด้วยราชบริพารอันใหญ่ สู่มรรคาที่ตกแต่งแล้ว กำหนดได้ 60 โยชน์ตั้งแต่เวิ้งเขาวงกต จนถึงกรุงเชตุดร
ครั้นได้ฤกษ์กําหนดกาลกลับคืนเข้าพระนคร ก็ทรงเครื่องราชูปโภคแบบพระมหากษัตริย์ เสด็จนิวัตกลับพระนคร พร้อมด้วยพระเกียรติยศอันยิ่งใหญ่ด้วยจาตุรงคเสนา พร้อม ด้วยสรรพาวุธ เสด็จขึ้นคชสารปัจจัยนาค นาคช้างพระที่นั่งท่ามกลางเสนามาตย์ราชบริพาร เดินทางรอนแรมมาอย่างสบาย มิได้เร่งร้อน เป็นเวลาสองเดือนก็ถึงพระนครสีพี ซึ่งได้รับการตกแต่งให้งดงามเป็นอย่างดีด้วยธงชัย และต้นกล้วยต้น อ้อยสองข้างมรรคาประชาชนพากันมาต้อนรับเนืองแน่นโห ร้องถวายพระพรชัยให้ทรงพระเจริญในราชสมบัติอย่ารู้โรย รา ทั้งพระนางมัทรีราชชายา และพระชาลีพระนางกัณหา ตลอดพระบรมวงศานุวงศ์ทั่วกัน
เมื่อพระเวสสันดรเสด็จขึ้นปราสาทแล้วรับสั่งประกาศ ให้ชาวเมืองปล่อยสัตว์ที่กักขังไว้ให้หมด ครั้นเวลาราตรี ก็ทรงรําพึงว่า พรุ่งนี้ประชาชีต่างก็จะแตกตื่นกันมาคอยรับพระราชทานแล้วจะได้สิ่งใดแจกจ่ายให้แก่ประชาชนทั้งหลายเหล่านั้น ทันใดนั้นท้าวโกสีย์ทรงทราบความปริวิตกของพระเวสสันดรแล้ว ก็ทรงบรรดารฝนแก้ว 7 ประการให้ตกลงในพระนครสีพี สูงถึงหน้าแข้ง เฉพาะในพระราชวัง ท่วมถึงสะเอว พระเวสสันดรก็ทรงประกาศให้ประชาชน มาขนเอาไปตามปรารถนาเหลือนั้นก็ให้ขนเข้าท้องพระคลังหลวง
พระเวสสันดรเสด็จเถลิงราชสมบัติปกครองพระนครสีพี โดยทศพิธราชธรรม ให้บ้านเมืองเป็นสุขตลอดพระชนมายุ เมื่อสิ้นพระชนม์แล้ว ก็ขึ้นไปบังเกิดในสวรรค์ชั้นดุสิตเทวโลก[1]
[1] พระธรรมโกศาจารย์ (ชอบ อนุจารีเถระ), เรื่องเดียวกัน, หน้า476.