กัณฑ์ที่ 12 ฉกษัตริย์ (ฉขัตฺติยปัพพะ ประกอบด้วยคาถา 43 คาถา)

กัณฑ์ที่ 12 ฉกษัตริย์ (ฉขัตฺติยปัพพะ ประกอบด้วยคาถา 43 คาถา)

ดร. พิสิฏฐ์ โคตรสุโพธิ์ ผู้เขียน

ว่าด้วยกษัตริย์ ทั้ง 6 พระองค์ได้มาพบกันที่อาศรมพระเวสสันดร ต่างกันแสงโศกเศร้า พิไรรำพันต้องที่พลัดพรากกัน จนสิ้นสติ  พระอินทร์ก็บันดาลฝนแก้ว โบขรพัสส์ตกลงมา ชำระความโศกของทุกคนให้ชื่นใจ   ชาวนครสีพีก็ขอเชิญพระเวสสันดรลาผนวชจากฤาษี กลับไปครองนครสีพีดังเก่า

              บาลีว่า    

              คาถาที่ 912 (1241)  เตสํ สุตฺวาน นิคฺโฆสํ                                 ภีโต เวสฺสนิตโร อหุ

                   ปพฺพตํ อภิรูหิตฺวา                                    ภีโต เสนํ อุทิกฺขติ ฯ

       (แปล)พระเวสสันดรได้ทรงสดับเสียงกึกก้องแห่งกองพลเหล่านั้น ก็ตกพระทัยกลัวเสด็จขึ้นภูเขา ทรงหวาดกลัวทอดพระเนตรดูกองพลเสนา

คาถาที่ 954 (1256) เวสฺสนฺตรญฺจ มทฺทิญฺจ                     สพฺเพ รฏฺฐา สมาคตา

                          ตฺวํ  โนสิ อิสฺสโร ราชา                        รชฺชํ กาเรถ โน อุโภ ฯ

(แปล) พระองค์เป็นพระราชาผู้เป็นใหญ่แห่งข้าพระบาททั้งหลาย ขอทั้งสองพระองค์ทรงพระกรุณาโปรดรับเสวยราชสมบัติเป็นพระราชาแห่งข้าพระบาททั้งหลายเทอญ.

            ความไทย    

            เมื่อพระเจ้ากรุงสัญชัย ทรงดําเนินทัพไปตามระยะทางโดยไม่เร่งร้อน ทรงอาศัยพระชาลีกุมาร นําทางมาโดยลําดับ เป็นเวลา 1 เดือนกับ 23 วัน  ก็ถึงเขาวงกต ใกล้อาศรมพระเวสสันดรแล้ว โปรดให้หยุดทัพอยู่ในที่ใกล้สระโบกขรณีมุจจลินทร์ ให้บ่ายหน้ารถกลับพระนครสีพี ด้วยถึงสุดที่หมายปลายทางแล้ว เสียงทหารทั้ง 4 เหล่าโห่ร้องกึกก้อง กัมปนาท สะเทือนสะท้านลั่นป่าพระหิมพานต์ 

            พระเวสสันดรทรงสดับเสียงทวยทหารบรรลือลั่นเช่นนั้น ก็ทรงตกพระทัย คิดไปว่าชะรอยจะเป็นอริราช ข้าศึกยกมาตีพระนครสีพีได้แล้ว ก็รีบเดินทัพมุ่งมาจะจับพระองค์ไปประหารพระชนม์ชีพ พระเวสสันดรจึงตรัสชวนพระนางมัทรีขึ้นไปแอบดูทหารบนภูเขา แม้อย่างนั้นแล้ว ก็ยังทรงแน่พระทัยว่าเป็นข้าศึกใหญ่อยู่ ถึงกับทรงพระกันแสงกับพระนางมัทรีว่า ถึงวาระของพระองค์จะต้องสิ้นพระชนม์ครั้งนี้แล้ว ไม่มีวิธีหลีกเลี่ยงให้พ้นได้ เพราะเวรกรรมแต่ปางก่อน

            ส่วนพระนางมัทรีกลับไม่มีความเห็นร่วมด้วย แต่เห็นไปว่า เป็นกองทัพของพระราชบิดายกมารับกลับพระนคร จึงมีหน้าตาเบิกบานยิ้มแย้มแจ่มใส ทูลพระเวสสันดรว่า กองทัพที่ยกมาหาใช่เป็นอริราชศัตรูติดตามมาจับไม่ ชะรอยจะเป็นทัพของสมเด็จพระราชบิดา ยกมารับกลับพระนครเป็นแน่ สมดังกระแสพระดําริที่ทรงคิดไว้แล้ว และสมกับพรที่ท้าวสักกอมรินทร์ ทรงประทานไว้ด้วย เพราะทวยทหารที่ยกมาแต่งเครื่องเป็นมงคล ไม่ใช่ลักษณะออกศึกเลย ขอพระองค์อย่าได้กินแหนงแคลงพระทัยเลย 

            พระเวสสันดรทรงกลับได้สติ เพ่งพิจารณาลักษณะการแต่งกายของทหารตามคําทูลของพระนางมัทรี ก็ทรงเห็นสอดคล้องด้วย มีความปีติโสมนัส ชวนพระนางมัทรีเสด็จลงจากภูเขามาประทับนั่งที่หน้าพระอาศรม ทําพระทัยให้มั่นคง มิให้ความยินดีดาลใจให้ฟูจนลิงโลดออกมาทางกาย วาจา ให้เสียภูมิปราชญ์ คอยต้อนรับพระราชบิดาด้วยพระอาการปรกติ

ก่อนที่พระเจ้ากรุงสัญชัยจะเสด็จเข้าไปพบพระเวสสันดร ได้ทรงรับสั่งกำชับกะพระนางเจ้าผุสดีว่า “เมื่อพวกเราทั้งหมดไปพร้อมกัน จักมีความเศร้าโศกใหญ่ ฉันจะไปก่อน ต่อนั้น เธอจงกำหนดดูว่า เดี๋ยวนี้ พวกเข้าไปก่อนจักบรรเทาความเศร้าโศกนั่งอยู่แล้ว พึงไปด้วยบริวารใหญ่ ถัดจากนั้น พ่อชาลีและแม่กัณหาชินารออยู่สักครู่หนึ่ง แล้วจงไปภายหลัง”  

พระองค์เสด็จลงจากคอช้างเสด็จไปสู่สำนักของพระราชโอรส

พระเวสสันดรและพระนางมัทรีทอดพระเนตร เห็นพระราชบิดาผู้มีความรักในพระโอรสนั้น เสด็จมา จึงเสด็จลุกขึ้นต้อนรับถวายบังคม ฝ่ายพระนางมัทรีทรงซบพระเศียรอภิวาทแทบพระบาทพระสัสสุระ กราบทูลว่า   “หม่อมฉันมัทรีผู้สะใภ้ของพระองค์ขอถวายบังคม ณ พระยุคลบาทของพระองค์”

พระเจ้าสัญชัยทรงสวมกอดสองกษัตริย์ ฝ่าพระหัตถ์ลูบพระปฤษฎางค์อยู่ไปมา ณ อาศรมนั้น ทรงกันแสงคร่ำครวญ ครั้นสร่างโศกแล้วก็ไต่ถามความสุขความทุกข์กัน

พระเวสสันดรทูลว่า ข้าแต่พระบิดา ความเป็นอยู่ของหม่อมฉันทั้งหลายเป็นทุกข์ เพราะหม่อมฉันทั้งหลายมีชีวิตอยู่ด้วยการเที่ยวเสาะแสวงหามูลผลาหาร  หม่อมฉันทั้งหลายมีความเศร้าโศกอยู่ในป่า จะมีความสุขอย่างไรได้ แล้วถามข่าวหาพระโอรส-ธิดา

พระเจ้าสัญชัยตรัสว่า หลานทั้งสองคือชาลีและกัณหาชินา พ่อได้ให้ทรัพย์แก่พราหมณ์ชูชกไถ่ไว้แล้ว เจ้าอย่าวิตกเลย จงโปร่งใจเถิด

ต่อนั้นพระนางผุสดี พระมารดา ก็เสด็จเข้าไป และทะทอยตามด้วยสองกุมารเสด็จเข้าไปยังอาศรม

 พระนางมัทรีพอทอดพระเนตรเห็นพระโอรสธิดาโดยไม่มีอันตรายใดๆ  ก็ไม่สามารถจะทรงพระวรกายอยู่ด้วยภาวะของพระองค์   พระกายสั่นเทิ้ม ทรงคร่ำครวญด้วยพระสุรเสียงอันดัง ลุกขึ้นเสด็จไปจากที่นั้น ดุจแม่โคมีลูกอ่อน แล้วถึงวิสัญญีภาพล้มลงเหยียดยาวเหนือปฐพี

ฝ่ายพระชาลีและพระกัณหาก็เสด็จมาโดยเร็วถึงพระชนนี ก็ถึงวิสัญญีภาพล้มลงทับพระมารดา ในขณะนั้น น้ำนมก็ไหลออกจากพระยุคลถันของพระนางมัทรี เข้าพระโอษฐ์แห่งกุมารทั้งสอง

ฝ่ายพระเวสสันดรทอดพระเนตรเห็นพระปิยบุตร-บุตรี ก็ไม่อาจทรงกลั้นโศกาดูรไว้ ถึงวิสัญญีภาพล้มลง    แม้พระชนกและพระชนนีก็ถึงวิสัญญีภาพล้มลง  เหล่าอำมาตย์หกหมื่นผู้สหชาติของพระมหาสัตว์ เห็นกิริยาของ 6 กษัตริย์ดังนั้น ก็ถึงวิสัญญีภาพล้มลงเหมือนกัน  ราชบริพารทั้งหลายที่เห็นเหตุการณ์อันน่าสงสารนั้น แม้คนหนึ่งก็ไม่อาจดำรงอยู่ได้โดยภาวะของตน อาศรมบททั้งสิ้นได้เป็นเหมือนป่ารัง อันลมยุคันตวาตย่ำยีแล้ว

            ท้าวสักกเทวราชทรงดำริว่า กษัตริย์ทั้ง 6 องค์ พร้อมด้วยราชบริษัทถึงวิสัญญีภาพ ไม่มีใครแม้คนหนึ่งที่สามารถจะลุกขึ้น รดน้ำลงบนสรีระของใครได้ เราจักให้ฝนโบกขรพัสส์ตกลงเพื่อชนเหล่านั้น จึงให้ฝนโบกขรพัสส์ตกลง ณ สมาคมแห่งกษัตริย์ทั้ง 6 พระองค์ ประพรมให้ได้สติคืนชื่นบานพระทัย ยังกษัตริย์ทั้งหกและมหาชนทั้งหลายให้สร่างโศก เพราะอัญญมัญญวิปโยคดังพรรณนามา 

            ต่อนั้นมหาอํามาตย์ ราชปุโรหิต จึงได้พร้อมกันทูลอัญเชิญให้พระเวสสันดรทรงลาผนวช เสด็จกลับไปครองราชสมบัติในพระนครสีพี ซึ่งทวยราษฎร์ทั้งมวลมีความยินดีพร้อมกันถวายให้พระองค์เป็นกษัตริย์ปกครองราชอาณาจักรสืบไป[1] ดังคำว่า “ข้าแต่สมมติเทพ ขอพระองค์จงเป็นนาย เป็นใหญ่ เป็นบิดาของข้าพระองค์ทั้งหลาย มหาชนประสงค์จะอภิเษกทั้งสองพระองค์ ในที่นี้นี่แหละ แล้วนำเสด็จสู่พระนคร  ขอพระองค์จงรับเศวตฉัตร อันเป็นของมีอยู่แห่งราชสกุล”

                   ในเวสสันตรจริยา ก็เล่าสรุปว่า “เมื่อพระมารดาและพระบิดาเสด็จมาพร้อมกัน ณ ป่าใหญ่ ทรงกรรแสงสะอึกสะอื้นน่าสงสาร ตรัสถามถึงสุขทุกข์กันอยู่ เราได้เข้าเฝ้าพระมารดาและพระบิดาทั้งสองผู้เป็นที่เคารพด้วยหิริและโอตตัปปะ แม้ในกาลนั้น แผ่นดินเขาสิเนรุราช และป่าหิมพานต์ ก็หวั่นไหวอีกครั้งหนึ่งเรากับบรรดาพระญาติของเราออกจากป่าใหญ่ จักเข้าสู่พระนครเชตุดร อันเป็นนครน่ารื่นรมย์ แก้ว 7 ประการตกลงแล้ว มหาเมฆยังฝนให้ แม้ในกาลนั้นแผ่นดิน เขาสิเนรุราชและป่าหิมพานต์ ก็หวั่นไหว แม้แผ่นดินนี้ไม่มีจิตใจไม่รู้สุขและทุกข์ก็หวั่นไหวถึง 7 ครั้ง เพราะกำลังแห่งทานของเรา”[2]  


[1] พระธรรมโกศาจารย์ (ชอบ อนุจารีเถระ), เรื่องเดียวกัน, หน้า 454.

[2] พิสิฏฐ์ โคตรสุโพธิ์, “พระมหาเวสสันตรทีปนี : สาระ คุณค่า และนัยสำคัญต่อวิถีสังคมและวัฒนธรรมล้านนา”,  ตามรอยพระสิริ   มังคลาจารย์ สังฆปราชญ์ล้านนา, สำนักวิชาการ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย วิทยาเขตเชียงใหม่, 2555. 

Leave a Comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *