กัณฑ์ที่ 11 มหาราช

กัณฑ์ที่ 11 มหาราช (มหาราชปัพพะ ประกอบด้วยคาถา 77 คาถา)

            ว่าด้วย  ชูชกนำ 2 กุมาร เดินทางจากเขาวงกต  ตลอดเวลาที่รอนแรมในป่า ชูชกจะผูกเปลนอนที่คาคบไม้  เอาเถาวัลย์ผูกล่ม 2 กุมารไว้ที่โคนต้นไม้ ให้นอนบนพื้นดินกันการหลบหนี  เทวดาก็มาปกป้อง เหมือนพ่อแม่มาคุ้มครองทุกราตรี จนเดินทางไปถึงนครสีพี พระเจ้าปู่ ได้ไถ่ตัวหลาน รับขวัญและมอบสมบัติเลี้ยงดูชูชกถึงขนาด ชูชกนักขอกินไม่รู้จักประมาณ อาหารไม่ย่อย สิ้นชีพลง และพระเจ้าสัญชัยก็เตรียมทัพกำหนดวันออกไปอัญเชิญพระเวสสันดรกลับนคร จากเขาวงกต ตามคำขอของพระชาลี ดังความว่า 

            บาลีว่า

คาถาที่ 835 (1215)  กสฺเสตํ มุขมาภาติ                          เหมํ วุตฺตตฺตมคฺคินา

                          นิกฺขํว ชาตรูปสฺส                               อุกฺกามุขปสํหิตํ ฯ

(แปล) นั่นหน้าของใครหนองามยิ่งนัก ดังทองคำอันนายช่างหลอมด้วยไฟสุกใส หรือดังแท่งทองคำอันละลายคว้างที่ปากเบ้า

คาถาที่ 911 (1240) เต คนฺตวา ทีฆมทฺธานํ                     อโหรตฺตานมจฺจเย

                          ปเทสนฺตํ  อุปาคญฺฉํ                           ยตฺถ เวสฺสนฺตโร อหุ ฯ

(แปล) พระเจ้าสัญชัยพร้อมทั้งราชบริพารเหล่านั้น เสด็จไประยะทางไกลล่วงหลายวันหลายคืน จึงบรรลุถึงประเทศที่พระเวสสันดรประทับอยู่

            ความไทย

             เมื่อชูชกได้รับพระราชทานสองกุมาร คือ พระชาลีและพระนางกัณหาจากพระเวสสันดรแล้ว ก็พาเดินมาตามทางในป่าใหญ่ ค่ำลงที่ไหนก็ผูกสองกุมารไว้ที่โคนต้นไม้ ตัวแกเองปีนขึ้นต้นไม้ผูกเปลนอนเพื่อให้พ้นภัยจากสัตว์ร้ายหากจะพึงมีขึ้นในค่ำคืนนั้น ๆ

            ในเวลากลางคืน ก็มีเทพบุตรเทพธิดา 2 ตน มีความสงสารสองกุมารมาก จึงแปลงร่างกายคล้ายพระเวสสันดร และพระนางมัทรี เดินมาพบกุมารทั้งสองแล้ว ก็จัดแจงแก้เถาวัลย์ที่ผูกข้อมือออก จัดให้อาบน้ำชําระร่างกาย ให้บริโภคอาหารอันเป็นทิพย์ และให้นอนเหนือตักกล่อมให้หลับสนิท ครั้นจวนสว่างก็จัดแจงผูกสองกุมารไว้เช่นเดิม แล้วก็อันตรธานไป พากันบํารุงสองกุมารโดยวิธีนี้ ตลอดเส้นทางที่พักแรมในป่าทุกราตรี 

            ครั้นเวลาเช้า ชูชกลงจากต้นไม้พาสองกุมารเดินทางต่อไป ค่ำลงที่ไหนก็พักแรมที่นั่น โดยวิธีการดังกล่าวข้างต้น

            ครั้นเดินมาถึงทางแยกสองแพร่ง ทางหนึ่งจะนำไปนครกาลิงคะ อีกทางหนึ่งจะนำไปนครสีพี

            เทพเจ้าดลใจให้ชูชกหลงทาง เลือกเดินไปทางที่จะไปสู่นครสีพี

            เป็นเวลาเวลา 15 ราตรี ชูชกก็พาสองกุมารมาถึงพระนครสีพี

            ในคืนวันสุดท้าย ที่ชูชกจะพาสองกุมารมาถึงนครสีพีนั้น พระเจ้ากรุงสัญชัยราช ทรงสุบินในเวลาใกล้รุ่งว่า มีบุรุษผู้หนึ่ง นําดอกบัวงามสองดอกมาถวาย พระองค์ทรงรับไว้ด้วยพระหัตถ์แล้วยกขึ้นทัดพระกรรณ กลิ่นดอกบัวหอมตลบชื่นพระนาสา

            เมื่อทรงตื่นบรรทม โปรดให้โหรหลวงมาทํานายพระสุบินนิมิต โหรทํานายว่า จะทรงพบพระญาติที่สนิทในเร็ววันนี้ พระองค์ทรงปราโมทย์ยินดียิ่งนัก

            ครั้นได้เวลา ก็เสด็จออกมาประทับยังหน้าพระลานหลวง ไม่ช้าชูชกก็พาสองกุมารมาถึงหน้าพระที่นั่งเทพเจ้ากําบังมิให้ใครรู้จัก หรือทักท้วงห้ามปรามแต่อย่างใด จนพระเจ้ากรุงสัญชัยทอดพระเนตรเห็นสองกุมารก็โปรดให้อํามาตย์นักการไปนําชูชกและสองกุมารมาเข้าเฝ้า และบัญชาให้ชูชกเล่าถึงการไปนําสองกุมารมาแต่เขาวงกตจนถึงนครสีพี

ขณะนั้น พระเจ้าสัญชัยทอดพระเนตรดูมรรคาทรงเห็นสองกุมาร มองดูคล้ายหลานของพระองค์จึงให้พนักงานไปตามมาเข้าเฝ้า ก็คาดคั้นชูชกว่า ได้เด็กสองคนมาแต่ไหน ก็ทราบว่าพระเวสสันดรให้ทานมา

พระเจ้ากรุงสัญชัยเห็นหลานแล้วก็ถามว่า ทำไมไม่มานั่งที่ตักปู่และย่าเหมือนแต่ก่อน

สองกุมารทูลว่า ยังเป็นทาสพราหมณ์  

            พระเจ้าสัญชัยจะไถ่พระนัดดา จึงถามถึงค่าตัวของแต่ละพระองค์แล้วก็เสียค่าไถ่พระนัดดาสองกุมารให้เป็นไทจากพราหมณ์ชูชก แล้วโปรดให้เจ้าพนักงานเชิญพระชาลีและพระนางกัณหาเข้าห้องสรง ชําระพระองค์ให้หมดจดด้วย   สุคันธรสวารี ตกแต่งพระอินทรีย์ด้วยเครื่องกษัตริย์ คือ อาภรณ์โขมพัสตร์ และสร้อยสุพรรณรัตนสังวาลย์ แล้วอัญเชิญเข้าสู่งานพระราชพิธีสมโภชรับขวัญ ในการกลับมาจากป่าหิมวันต์เข้าสู่พระนครโดยสวัสดี และมอบปราสาทให้ชูชก เลี้ยงดูอย่างดี พลางถามข่าวของพระเวสสันดร

พระชาลีก็รําพันความทุกข์ร้อนของพระบิดาและพระมารดา ตั้งต้นแต่การแสวงหาผลไม้และรากไม้ในป่า อันเป็นความทุกข์ทรมานสุดประมาณ ก่อให้เกิดความสงสารแก่พระอัยกาเป็นอย่างหนักว่า

“พระชนกชนนีทั้งสองของหม่อมฉัน ไม่ค่อยมีพระโรคาพาธ ยังอัตภาพให้เป็นไปด้วยการเสาะแสวงหาผลาหารสะดวกดี และมูลผลาหารก็มีมาก อนึ่ง เหลือบ ยุง และสัตว์เลื้อยคลาน มีบ้างก็เล็กน้อย ความเบียดเบียนให้ลำบาก ในวนประเทศที่เกลื่อนไปด้วยเนื้อร้าย ก็ไม่ค่อยมีแด่พระชนกพระชนนีทั้งสองนั้น พระชนนีของหม่อมฉันทั้งสองเสด็จไปขุดมัน กระชากมันอ่อน มันมือเสือ มันนก และนำผลกะเบา ผลจาก ผลมะนาว มาเลี้ยงกัน พระชนนีเป็นผู้หามูลผลในป่า ทรงนำมาซึ่งมูลผลใด หม่อมฉันทั้งหลายประชุมพร้อมกันเสวยมูลผลนั้น ในเวลากลางคืน ไม่ได้เสวยในเวลากลางวัน
             “พระชนนีของหม่อมฉันทั้งสองเป็นสุขุมาลชาติ ต้องทรงหาผลไม้ในป่ามาเลี้ยงกัน จนทรงซูบมีพระฉวีเหลือง เพราะลมและแดด ดุจดอกปทุมอยู่ในกำมือ เมื่อพระชนนีเสด็จเที่ยวอยู่ในป่าใหญ่ ซึ่งเกลื่อนไปด้วยพาลมฤค มีแรดและเสือเหลืองอยู่อาศัย พระเกสาก็ยุ่งเหยิง พระองค์เกล้าพระชฎาบนพระเกสา ทรงเปรอะเปื้อนที่พระกัจฉประเทศ พระชนกทรงเพศบรรพชิตผู้ประเสริฐ ทรงถือไม้ขอ ภาชนะเครื่องบูชาเพลิงและชฎา ทรงหนังเสือเหลืองเป็นพระภูษา ทรงบรรทมเหนือแผ่นดิน นมัสการเพลิง”

การเสวยอาหาร อยู่ในป่ากษัตริย์ทั้ง 4 ได้เสวยเพียงวันละมื้อ และเฉพาะอาหารค่ำเท่านั้น เข้าทำนองลำบากมาก ดังคำพังเพยว่า หาเช้า กินค่ำแท้

พระชาลีเมื่อจะทูลท้วงพระอัยกา จึงตรัสว่า ลูกทั้งหลายที่เกิดขึ้นในโลก ย่อมเป็นที่รักของมนุษย์ผู้เป็นพ่อแม่ทั้งหลาย พระอัยกาของหม่อมฉันทั้งสอง คงไม่เกิดเสน่หาในพระโอรสเป็นแน่ทีเดียว”

            พระเจ้าสัญชัยเมื่อทราบว่า พระเวสสันดรพร้อมพระนางมัทรีดำรงชีวิตอยู่ป่าอย่างยากลำบากแสนเข็ญเช่นนี้ จึงเพิ่มพูนความรักในพระโอรสด้วยระลึกถึงความหลัง จึงตรัสว่า “ใช่พระอัยกาจะชิงชังแล้วขับพระพ่อเจ้าก็หาไม่ หากเพราะชาวเมืองมันใส่ไคล้ให้เชื่อด้วยมารยา จึงขับพระบิดาและพระมารดาให้นิราศไปหิมพานต์  เราทำผิดต่อลูกผู้ไม่มีความผิด เพื่อไถ่โทษพ่อจะยกราชสมบัติให้ครองสืบแทน”

            พระชาลีจึงทูลสารวิงวอนพระเจ้ากรุงสัญชัย ให้ยกทัพแสนยากรครรไลไปรับพระบิดาและพระมารดา กลับคืนยังพระพาราสีพี พระอัยกาก็ทรงยินดีดังคําพระนัดดา จึงตรัสสั่งให้เกณฑ์โยธากระบวนทัพ เร่งรัดให้สรรพเสร็จในเจ็ดวัน ไปเขาวงกต ไปเชิญพระโอรสทั้งสองกลับคืนมาครองธานี

            พอดีชูชกนักภิกขาจาร กินอาหารเกินขนาด เตโชธาตุไม่ย่อย พยุงเอาชีวิตไม่รอด ในที่สุดก็ดับจิตชีวิตตักษัย พระเจ้ากรุงสัญชัยจึงให้ประกาศหาทายาทของชูชก มารับมรดกที่ได้รับพระราชทานไว้ เมื่อไม่มีผู้ใดมารับ ก็โปรดให้นํากลับเข้าเป็นของหลวงตามประเพณี 

            ครั้นใกล้เวลาจะให้เคลื่อนโยธีทวยทหาร ก็พอดีพระเจ้ากรุงกาลิงคะ โปรดให้พราหมณ์นำคชสารปัจจัยนาคกลับคืน ที่พระเวสสันดรทรงบริจาคถวายไปกลับคืนถวายมายังพระนครชัยสีพี พระเจ้ากรุงสัญชัยก็ทรงเปรมปรีดิ์ปราโมทย์ โปรดให้นําช้างปัจจัยนาคเข้ากระบวนทัพ เพื่อให้รับพระเวสสันดรยังสิงขรเขาวงกต ตามกําหนดรุ่งอรุณราตรี

            โปรดให้พระชาลีทรงช้างปัจจัยนาคนํากระบวนทัพ เสียงช้างม้าร้อง ฆ้องแตรกระแสศัพท์ ดังสนั่นมี่ ครั้นได้ฤกษ์กษัตริย์ทั้งสี่คือ พระเจ้ากรุงสัญชัย พระนางผุสดี พระชาลีและพระนางกัณหา พร้อมด้วยกระบวนทัพก็ยาตราจากพระนคร มุ่งหน้าตรงยัง เขาวงกต ซึ่งเป็นที่ตั้งอาศรมแห่งแห่งพระราชฤาษี ได้ห้าสิบสามราตรีจึงถึงอาศรมสถาน พระเวสสันดรและพระนางซึ่งทรงเพศพระฤาษี  สํารวมกายใจ สมควรแก่วิสัยผู้ประพฤติพรหมจรรย์ [1]


[1] พระธรรมโกศาจารย์ (ชอบ อนุจารีเถระ), เรื่องเดียวกัน, หน้า422.

Leave a Comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *