
April 24, 2025
กัณฑ์ที่ 9 มัทรี (มัททีปัพพะ ประกอบด้วยคาถา 97 คาถา)
ดร. พิสิฏฐ์ โคตรสุโพธิ์ ผู้เขียน
ว่าด้วยพระนางมัทรีเห็นสุบินเป็นลางร้ายว่าจะพลัดพรากจากโอรส จึงนำไปฝากไว้กับพระเวสสันดรก่อนออกไปหาผลหมากรากไม้ในป่า เมื่อกลับมาไม่พบพระโอรส จึงออกตามหาทั้งคืนจนหมดพระกำลัง กลับมาสลบสิ้นสติต่อพักตร์พระเวสสันดร
บาลีว่า
คาถาที่ 689 (1183) เตสํ ลาลปิตํ สุตฺวา ตโต วาฬา วเน มิคา
สีโห พิยคฺโฆ จ ทีปิ จ อิทํ วจนมพฺรวุ ฯ
(แปล) เทวดาเหล่านั้นได้ฟังสองพระกุมารทรงพิลาปร่ำรำพันแล้ว จึงได้กล่าวกะเทพบุตรทั้ง 3 ว่า ท่านทั้ง 3 จงแปลงเพศเป็นสัตว์ดุร้ายในป่า คือ เป็นราชสีห์ เสือโคร่ง เสือเหลือง
คาถาที่ 785 (1201) อิติ มทฺที วราโรหา ราชปุตฺตี ยสฺสินี
เวสฺสนฺตรสฺส อนุโมทิ ปุตฺตเก ทานมุตฺตมํ ฯ
(แปล)พระนางเจ้ามัทรีผู้ทรงพระรูปพระโฉมอันอุดม เป็นพระราชบุตรีผู้มียศทรงถวายอนุโมทนาปุตตทาน อันอุดมของพระเวสสันดร ด้วยประการฉะนี้แล
ความไทยว่า
ราตรีนั้น พระนางมัทรีทรงสุบินร้าย สะดุ้งตื่น รีบมาเล่าให้พระเวสสันดรฟัง พระเวสสันดรปลอบว่า เพราะพระนางเคยอยู่เสวยสุขสบายในราชวัง เมื่อมาตกระกำลำบางในป่าพงไพร อาจเป็นเหตุให้พระนางต้องทรงสุบินร้ายได้ ไม่มีอะไรร้ายแรงหรอก ก่อนที่จะออกจากอาศรมเข้าไปหาผลไม้มาตามภารกิจประจำวัน พระนางมัทรีจึงขอทูลฝากพระโอรสทั้งสองแด่พระเวสสันดรให้ดูแลด้วยหัวใจเป็นห่วง เพราะหวาดหวั่นภัยที่อาจเกิดจากฝันร้ายเมื่อคืนนี้ก็เป็นได้ แล้วนางก็เดินทางเข้าป่าเก็บผลไม้ตามเคยโดยที่จิตใจยังห่วงหน้าพะวงหลัง
พระนางมัทรีเข้าป่าแสวงหาผลาผล เกิดลางร้าย “เสียมหลุดจากพระหัตถ์ กระเช้าก็หลุดจากพระอังสา พระเนตรเบื้องขวาก็เขม่น พฤกษาชาติที่มีผลก็เป็นเหมือนไม่มีผล พฤกษาชาติที่ไม่เคยมีผล ก็ปรากฏเป็นราวกะว่ามีผล ทิศทั้งปวงก็ไม่ปรากฏ(หลงทาง)” [1]
พระนางมัทรีทรงพิจารณาว่า “นี่เป็นอย่างไรหนอ ไม่เคยมีมาแต่ก่อนก็มามี ในวันนี้เหตุการณ์อะไรจักมีแก่เรา แก่ลูกทั้งสองของเรา หรือแก่พระเวสสันดรราชพระสวามี กระมัง”
ในเวลาเย็นตอนเดินทางกลับ แม้พระนางมัทรีจะพยายามรีบกลับให้เร็ว แต่บังเอิญได้มาพบสัตว์ร้าย 3 ตัว คือ ราชสีห์ เสื้อโคร่ง และเสือเหลือง นอนหมอบขวางทางอยู่ พระนางก็มาไม่ได้ จนถึงเวลาย่ำค่ำ สัตว์ร้ายทั้งสาม ซึ่งกล่าวว่าเป็นเทวดาจำแลงกายมาก็ได้หลีกออกจากทางให้ พระนางมัทรีจึงได้เดินทางกลับถึงอาศรม ก็ต่อเมื่อผ่านไปถึงเวลาค่ำคืนแล้ว
การที่เทพยาดาแปลงกายเป็นสัตว์ร้ายมาขวางทาง ก็เพื่อมิให้พระนางมัทรีได้เดินทางกลับมาเร็ว ด้วยเกรงว่าเมื่อไม่เห็นพระอรส พระนางจะต้องรีบติดตามพระโอรสไปได้ทัน แล้วก็จะเกิดการพิพาทกับชูชก เรื่องปุตตปริจาค การให้โอรสเป็นทานของพระเวสสันตรก็จะไม่เกิดผลดีดั่งที่มุ่งหมาย
ครั้นพระนางกลับมาไม่เห็นพระโอรสทั้งสอง แม้จะส่งเสียงเรียกร้องออกตามหาทุกสถานที่ ที่โอรสทั้งสองเคยเที่ยวเล่นก็ไม่พบ พระทรงกันแสง จึงเข้าไปทูลถามพระเวสสันดร
ขั้นต้น พระเวสสันดรทรงนิ่งเฉยเสีย
พระนางมัทรีจึงทูลพ้อว่า “การที่พระองค์ไม่ตรัสกะหม่อมฉันนี้ เป็นทุกข์ยิ่งกว่า การที่วันนี้หม่อมฉันไม่เห็นชาลี และกัณหาชินาลูกรักทั้งสองนั้น เหมือนแผลที่ถูกแทงด้วยลูกศร การไม่เห็นลูกทั้งสองและพระองค์ไม่ตรัสกะหม่อมฉัน แม้นี้เป็นทุกข์ซ้ำสอง เหมือนลูกศรแทงหทัยของหม่อมฉัน ข้าแต่พระราชบุตร วันนี้ ถ้าพระองค์ไม่ตรัสกะหม่อมฉันตลอดราตรีนี้ พรุ่งนี้เช้า ชะรอยพระองค์จะได้ทอดพระเนตรเห็นหม่อมฉันปราศจากชีวิตตายเสียแล้ว”
เมื่อพระนางมัทรีตรัสพ้อว่า ถามก็ไม่ตอบ เป็นเพราะอะไรแน่ พระเวสสันดรก็ใช้อุบายเพื่อดับ คลายความโศกเพราะการไม่พบพระโอรสของพระนาง ด้วยการกล่าวโทษทำนองว่า พระนางนอกพระทัย เพลินจนกลับมาจากป่าเมื่อค่ำมืด แม้อุบายนี้ ตอนแรกดูจะได้ผลก็จริง แต่ก็กลับเป็นผลร้าย เมื่อพระนางมัทรีทรงน้อยพระทัยในพระสามี
พระนางมัทรี จึงเสด็จเที่ยวค้นหาพระโอรส พระธิดาทุกซอกทุกมุม อาศัยเพียงแสงจันทร์ส่อง และแสงดาวริบหรี่ เสด็จถึงสถานที่ต่างๆ มีต้นหว้าเป็นต้น ซึ่งเป็นที่พระโอรสพระธิดาเคยเล่น พลางร้องเรียกชื่อหา คำตอบมีแต่ความเงียบ จึงกลับมาบอกพระเวสสันดรว่า “หม่อมฉันไม่พบคนที่นำลูกทั้งสองไป ลูกทั้งสองคงสิ้นชนม์ชีพแล้ว ฝูงกาฝูงนกทั้งหลายไม่มีอยู่ ลูกทั้งสองของหม่อมฉันคงสิ้นชนม์ชีพเสียแล้ว ใครนำลูกของเราไป”
พระเวสสันดรก็นิ่งเฉย
พระนางออกตามหาอีกไปซ้ำตามทางเดิมถึง 3 รอบ สิ้นระทาง 15 โยชน์ (240กิโลเมตร) ตลอดคืนจนรุ่งเช้า และหมดความหวังกลับมาอาศรม ทรงประคองพระพาหากันแสงว่า “ข้าแต่สมมติเทพ หม่อมฉันไม่เห็นคนที่นำลูกทั้งสองของเราไป ลูกทั้งสองคงสิ้นชนม์ชีพแล้ว”
เมื่อความเศร้าโศกบีบคั้นหนัก ผสมกับการไม่ได้พักผ่อนเพราะหาผลไม้ทั้งวัน แถมยังมาเที่ยวตามหาลูกรักทั้งคืน เฉลี่ยชั่วโมงละ 30 กิโลเมตร ร่างกายพระนางก็สุดจะทนทานแบกความทุกข์ต่อไปเอาไว้ไม่ไหว เพราะหมดเรี่ยวแรงที่จะทรงพระวรกายไหวเสียแล้ว พระนางมัทรีก็จึงหมดสติล้มลง ณ ภูมิภาคแทบพระยุคลบาทต่อพระพักตร์ของพระเวสสันดร ที่ลานอาศรมนั้นเอง
ครั้นพระเวสสันดรทอดพระเนตรเห็นพระชายาสิ้นสติสลบล้มลงไปเช่นนั้น ก็ตกพระทัย ลืมพระองค์ไปว่า ยังถือเพศเป็นดาบส ตรงเข้าช้อนอุ้มร่างพระนางมัทรีขึ้นมาวางบนพระเพลาของพระองค์ ทรงกันแสง หัตถ์บีบนวดพระวรกายตามประสายาก ครั้นทรงได้สติรู้สึกสัมผัสว่า พระกายของพระนางมัทรียังอุ่นอยู่ มีความหวังว่า พระนางยังไม่ถึงแก่การสิ้นพระชนม์ชีพ จึงลุกไปหยิบเต้าน้ำ เทน้ำออกมาพรม ใช้หัตถ์ลูบชะโลมลงบนพระวรกายพระนางมัทรี อย่างจดจ่อและกังวล
ครั้นเมื่อพระนางมัทรีทรงฟื้นพระองค์ขึ้นมา ทรงรู้สึกละอายพระทัยที่พระนางกำลังบรรทมอยู่บนเพลาของพระเวสสันดร ก็ค่อยขยับลุกขึ้นนั่ง และทรงเลื่อนพระวรกายลงจากพระเพลา มาก้มถวายบังคมที่พื้นและขอประทานโทษ พร้อมกับทูลถามถึงความจริงเกี่ยวกับพระโอรสทั้งสอง
พระเวสสันดร์จึงทรงบอกความจริงว่า พระองค์ได้ให้ทานแก่ชูชกไปแล้ว และแจ้งความประสงค์ของพระองค์ว่า เพื่อบำเพ็ญบารมีจะได้บรรลุพระสัมโพธิญาณในภายหน้า พร้อมกับทรงประเล้าประโลมพระทัยพระนางมัทรีว่า ถ้าเราทั้งสองยังไม่สิ้นพระชนม์เสียก่อน จะต้องได้ประสบพระโอรส ลูกน้อยทั้งสองเป็นแน่แท้
ครั้นได้รับฟังดังนั้น พระนางมัทรีก็ทรงสร่างโศกหายเศร้า และทรงอนุโมทนาต่อการพระราชทานโอรสทั้งสองเป็นทานให้แก่พราหมณ์ชูชกไป[2]
หมายเหตุ
จะยกสำนวนล้านนา มหาเวสสันตระ สำนวนสร้อยสังกร ตอน พระเวสสันดรทรงเข้าพระทัยว่า พระนางมัทรีสิ้นพระชนม์ ก็คร่ำครวญด้วยความเสียพระทัย ทรงกันแสงพลางทรงเรียกพระขวัญทั้ง 32 ของพระนางมัทรีให้กลับคืนมา ดังนี้
“ก็ร้องร่ำไห้เรียกขวัญพลางว่า ลุกขึ้นเทอะยอดบุญขวางเฮยเมียมิ่ง
ลุกขึ้นมาเทอะเมียรักยิ่งเสมอตา สามสิบสองขวัญนางอย่าไปล่าดงหนาเถื่อนถ้อง
ที่น้ำไหลหลิ่งช่วยด่านผาชัน สามสิบสองขวัญนางอย่าไปอยู่ป่าไม้จวงจันทน์
ที่ดอยดงตันหนาหลืบแหน้น ขวัญนางอย่าไปคัดคั่งแค้นมากเมามัว บัดนี้ กูพี่เป็นผัวก็มาก้มหัวเรียกร้อง สามสิบสองขวัญมัทรีนาฏน้องจุ่งรีบเร็วมา"
[1] ชาตฏฐกถา ทสโม ภาโค, หน้า 402-3, “อถสฺสา หตฺถโต ขณิตฺติ ปติ, ตถา อํสโต อุคฺคีวญฺจ ปติ, ทกฺขิณกฺขิ จ ผนฺทติ, ผลิโน รุกฺขา อผลา วิย อผลา จ ผลิโน วิย ขายึสุ, ทส ทิสา น ปญฺญายึสุ”
[2] พระธรรมโกศาจารย์ (ชอบ อนุจารีเถระ), เรื่องเดียวกัน, หน้า339.