
April 17, 2025
กัณฑ์ที่ 4 วนประเวศน์ วนัปปเวสน์ หรือ (วนปเวศน์) ประกอบด้วยคาถา 59 คาถา
ดร. พิสิฏฐ์ โคตรสุโพธิ์ ผู้เขียน
ว่าด้วย กษัตริย์ทั้ 4 พระองค์ ต้องพากันระหกระเหินออกจากนครสีพี เดินดงมุ่งหน้าสู่เขาวงกต หรือ เขาคันธมาทน์ ป่าหิมพานต์
บาลี
คาถาที่ 243 (1108) ยทิ เกจิ มนุชา เอนฺติ อนุมคฺเค ปฏิปเถ
มคฺคนฺเต ปฏิปุจฺฉาม กุหึ วงฺกตปพฺพโต ฯ
(แปล) ถ้ามนุษย์บางพวกเดินมาตามทางหรือเดินสวนทางมา เราจะถามมรรคากะพวกเขาว่า ภูเขาวงกต อยู่ที่ไหน
คาถาที่ 301 (1122) ตสฺสา อุตฺตรปุพฺเพน ปณฺณสาลํ อมาปย
ปณฺณสาลํ อมาเปตฺวา อุญฉาจริยาย อีหก ฯ
(แปล) พระองค์ควรทรงสร้างบรรณศาลาทางทิศอีสาน แห่งสระโปกขรณีนั้น ครั้นทรงสร้างบรรณศาลาสำเร็จแล้ว ควรทรงบำเพ็ญเพียร เลี้ยงพระชนม์ชีพ ด้วยการเที่ยวแสวงหามูลผลาหาร
ความไทย
เมื่อกษัตริย์ทั้ง 4 พระองค์ คือ พระเวสสันดร พระนางมัทรี พร้อมด้วยพระโอรส-ธิดาเสด็จดําเนินจากพระนครสีพีไปสู่ป่า พบคนเดินสวนทางมา ก็ถามทางไปสู่เขาวงกต พวกเขาก็ตอบว่า เขาวงกตยังอยู่อีกไกล พระเวสสันดรเสด็จผ่านสถานที่ต่าง ๆ ดังนี้
จากเชตุดรราชธานี ถึงภูเขาชื่อสุวรรณคิรีตาละ 5 โยชน์
จากสุวรรณคิริตาละ ถึงแม่น้ำชื่อโกนติมารา 5 โยชน์
จากแม่น้ำโกนติมารา ถึงภูเขาชื่ออัญชนคิรี 5 โยชน์
จากภูเขาอัญชนคิรี ถึงบ้านพราหมณ์ชื่อตุณณวิถนาลิทัณฑ์ 5 โยชน์
จากบ้านพราหมณ์ตุณณวิถนาลิทัณฑ์ ถึงมาตุลนคร หรือ เจตรัฐ 10 โยชน์
ทางจากนครเชตุดรถึงแคว้นเจตรัฐ รวมระยะทาง 30 โยชน์ (30 x 16 = 480 กิโลเมตร)
พระองค์ประสบความลําบากตลอดเส้นทาง ที่สุดก็ถึงเมืองเจตราช จึงแวะเข้าประทับพักพระวรกายอยู่ที่ศาลาหน้านคร
ครั้นชาวนครเจตราชได้พบเห็นและทราบความจริง ก็ตกใจรีบส่งข่าวสารไปกราบทูลกษัตริย์นครเจตราช ต่อนั้น บรรดากษัตริย์ขัตติยวงศ์ทั้งหมด ก็พากันเสด็จออกมาเฝ้าเยี่ยมแล้วทูลว่า[1]
เทวะ ข้าแต่พระร่มเกษตระกูลแก่นกษัตริย์ อันว่าสิ่งสรรพพิบัติบ่บีฑา พระร่มเกล้า ยังค่อยครองพาราเป็นบรมสุข สิ่งสรรพทุกข์พยาธิ ทั้งองค์สมเด็จพระชนนีชนกนาถ ยังค่อยเสวยสุข นิราศโรคันตราย ทั้งประชาชนชาวสีพีราชทั้งหลาย ไม่เดือดร้อน ยังค่อยเป็นสุขถาวรอยู่ฤา พระพุทธเจ้าข้า
นุ. ดังข้ามาสงกากินแหนงในยุบลเหตุ ดังฤา พระจอมปิ่นปกเกษมาเดินไพรนิราศร้างแรมไร้พารา ปราศจากจตุรงค์คณานิกรราชรถ ทั้งม้ามิ่งมงคลคชที่เคยทรง มาดําเนินแต่สี่พระองค์ดูอนาถ ฤาว่า มีหมู่อรินทราชมาราวี เสียพระนครสีพีพินาศแล้ว ทูลกระหม่อมแก้วจึงจาก พรากพลัดขัตติยวงศ์ มาบุกป่าฝ่าพงพูนเทวศ จนถึงนคเรศข้าพระบาท ขอพระองค์จงตรัสประภาส ให้ทราบเกล้า แก่ข้าพระพุทธเจ้าทั้งปวงเถิด
พระเวสสันดรได้ทรงสดับสาร จึงมีพระราชบรรหารเฉลยเหตุว่า ดูกรพระสหายผู้ผ่านนคเรศ เจตราช เราขอบพระทัยที่ท่านไต่ถามถึงประยูรญาติราชปิตุรงค์ ซึ่งท้าวเธอก็ทรงสุขสถาพร ทั้งประชาชนชาวสีพีราชไม่เดือดร้อนระงับภัย ซึ่งเรานิราศเวียงชัยมาสู่ป่า เพราะว่า เราทรงพระราชศรัทธามาเสียสละ พระยาเศวตกุญชรพาหนะพระที่นั่งต้น อันเป็นศรีสวัสดิ์มงคลคู่นคร แก่พราหมณ์ทิชากร ชาวกลิงคราช ชาวพระนครเขามิยอมอนุญาตชวนกันกริ้วโกรธ ยกอธิกรณ์โทษทูลพระปิตุเรศ ท้าวเธอจึงสั่งให้เนรเทศเราจากพารา ด้วยเราทําผิด ขัตติยราชจรรยาอย่างบุราณ
พระเจ้าเจตราช พระพุทธเจ้าข้า พระองค์เสด็จเดินพนัสกันดารดูลําบาก เป็นกษัตริย์ตกยาก มิควรเลย ขอเชิญเสด็จหยุดพักพอเสวยสุทธาโภชน์ สิ่งสรรพรสเอมโอชกระยาหาร ให้บรรเทาที่ทุกข์ ทรมานลําบากองค์
พระเวสสันดรจึงตรัสว่า สิ่งซึ่งท่านจํานงนํามาพระราชทานให้แก่เราผู้เข็ญใจอันมาถึง ก็ขอบพระทัยที่ท่านยังคํานึงนับว่าญาติ พระคุณนั้นยิ่งกว่าพื้นพสุธาอากาศไม่เทียมเท่า แต่สมเด็จพระปิตุเรศเจ้าทรงพระพิโรธ ขับเราผู้ต้องโทษจากพระนคร แล้วตัวเราจะรีบบทจรไปวงกต ท่านช่วยแนะนำตําแหน่งพนัสบรรพตให้เราจร
พระเจ้าเจตราช พระพุทธเจ้าข้า พระองค์อย่าได้อาวรณ์ วิตกด้วยความเข็ญ โทษเท่านั้นพิเคราะห์เห็นไม่เป็นไร ข้าพระบาทจะชวนกันไปทูลขอโทษ ท้าวเธอจะทรงพระกรุณาโปรดให้ขึ้นครอง จึงจะเชิญเสด็จละอองธุลีพระบาท คืนพระนครสีพีราช ด้วยดิเรกยศ มิให้พระองค์อัปยศแก่ชาวเมือง
พระเวสสันดรจึงตรัสว่า ประชาชนเขาแค้นเคืองทูลให้เนรเทศ เรานิราศนคเรศมาแรมไพร พระบิดาก็มิได้เป็นใหญ่แต่พระองค์ ย่อมประพฤติโดยจํานงชาวสีพีราช ถึงว่าท่านจะไปทูลให้ท้าวเธออนุญาตให้คืนกรุง ชาวเมืองก็จะหมายมุ่งประทุษจิต ในสมเด็จบรมบพิตรผู้ร่มเกล้า เพราะเหตุด้วยรับเราเข้านคร
พระเจ้าเจตราช พระพุทธเจ้าข้า เมื่อมิพอพระทัยคืนพระพิไชยเชตุดรก็ตามแต่พระอัธยา จะขอเชิญเสด็จขึ้นผ่านพาราเจตราช เป็นจอมมิ่งมงกุฏมาตุลนคร เป็นปิ่นปกประชากรเกษมสุข มิให้ท้าวเธอเสด็จไปทนทุกข์ที่กลางดง อันข้าพระบาทจะขอรองบทบงสุ์บรมกษัตริย์
พระเวสสันดรครั้นพระองค์ได้ทรงฟัง จึงบัญชาตอบว่า ซึ่งท่านจะมามอบเมืองเจตราช ให้แก่เราในครั้งนี้ เราก็มิได้มีพระทัยเสวยสิริสมบัติ ด้วยชาวเชตุดรเขาแค้นจัดให้เนรเทศ ท่านจะมามอบนคเรศให้ครอบครอง พระนครทั้งสองสิเป็นราชสัมพันธมิตร ก็จะเกิดกลวิปริตร้าวฉาน จากจารีตบุราณ แต่ปางก่อน จะไม่สมัครสโมสรเสียประเพณี เกิดมหากลหโกลีเดือดร้อน ทุกไพร่ฟ้าประชากรทั้งสองฝ่าย ต่างจะมุ่งหมายประทุษกัน ก็จะเกิดมหาพิบัติไภยันไม่มีสุข เหตุด้วยเราผู้เดียวจะมาทําทุกข์ให้ท่านทั้งปวง สมบัติอันใดในเมืองหลวงเจตราช ซึ่งท่านทั้งหลายมาอนุญาตยกให้ เราขอคืนถวายไว้เสวยสุข ท่านจงอยู่นฤทุกข์อย่ามีภัย อันตัวเรานี้จะลาไปสู่วงกต จะทรงประพฤติพรหมพรตอิสีเพศ เชิญท่านช่วยแนะแนววิถีเทศให้เรา จรไปยังวงกตสิงขรโน้นเถิด
เมื่อกษัตริย์เจตราชทั้งหลายทูลเชิญเสด็จไว้ ครั้นแล้วท้าวเธอมิตามพระทัยก็สุดคิด เจตราช จึงทูลเชิญสมเด็จบรมบพิตรให้ประเวศพระนคร หวังจะให้เสวยสุขไสยากรเกษมอาสน์ เวลาสุริโยภาศจึงค่อยครรไล
พระเวสสันดรก็ถ่อมพระองค์ว่า เข็ญใจไร้ศักดิ์ มิได้เสด็จเข้าไปสํานักในพระพารา ฯลฯ
ที่สุดกษัตริย์เจตราช ก็ให้ตกแต่งศาลาที่ประทับ ปิดบังด้วยม่าน แล้วถวายอารักขาให้ดีที่สุดจนสว่าง แล้วถวายพระกระยาหารให้เสวย เสร็จแล้วอัญเชิญไปยังประตูป่า ต้นทางที่จะไปยังเขาวงกต แนะนํามรรคาให้ทรงกําหนดหมาย ทรงตั้งเจตบุตรพรานไพร ให้เป็นพนักงานรักษาประตูป่า ถวายอารักขาคุ้มภัยให้เป็นพิเศษ [2]
กษัตริย์ทั้ง 4 พระองค์ดำเนินมุ่งหน้าเข้าสู่วงกต ตามหนทางที่พระยาเจตราชชี้แนะ มุ่งสู่เขาคันธมาทน์ พักแรม 1 ราตรี ข้ามเขาวิปุละ ข้ามน้ำเกตุมดี ข้ามเขานาลิกะ เข้าป่าลึก ซอกเหวสูงและชันที่เดินได้ทีละคน จนถึงสระโบกขรณี สุดท้าย(จากนครเชตุดร ถึงเขาวงกต / คันธมาทน์ เป็นระทางทั้ง หมด 60 โยชน์ ระยะทาง 1 โยชน์เท่ากับ 16 กิโลเมตร รวมทั้งหมด 960 กิโลเมตร)
ที่เวิ้งเขาวงกต ก็พบอาศรม 2 หลัง ที่พระอินทร์สั่งวิสสุกรรมเทพบุตรเนรมิตไว้ จารึกอักษรไว้ว่า “ท่านผู้หนึ่งผู้ใดใคร่จะบวช ก็จงใช้บริขารเหล่านี้”[3]
พระเวสสันดรทรงเพศฤาษี ให้พระชายาและโอรสธิดาผนวชเป็นดาบสและตาปสินีทั้งหมด ดำรงชีพด้วยมูลผลาหารในป่า โดยพระนางมัทรีเป็นผู้แสวงหา ประทับอยู่ ณ เวิ้งเขาวงกตสิ้นเวลา 7 เดือน
[1] ต่อไปนี้เป็นถ้อยคําสํานวนร่ายในหนังสือมหาเวสสันดรชาดกที่ไพเราะด้วยสํานวนจํากัดความ ไม่เยิ่นเย้อ เรียบร้อยเป็นตัวอย่างของการโอภาปราศัย ถามทุกข์สุขในระหว่างมิตรสหายดีมาก จึงขออัญเชิญมาใส่ไว้เพื่อศึกษา
[2] พระธรรมโกศาจารย์ (ชอบ อนุจารีเถระ), เรื่องเดียวกัน, หน้า๑๑๕.
[3] ชาตฏฐกถา ทสโม ภาโค, หน้า ๓๔๖, “เย เกจิ ปพฺพชิตุกามา, เต อิเม คณฺหนฺตุ. ชาตฏฐกถา ทสโม ภาโค, หน้า ๓๒๓,”