
April 17, 2025
กัณฑ์ที่ 3 ทานกัณฑ์ ประกอบด้วยคาถา 143 คาถา
ดร. พิสิฏฐ์ โคตรสุโพธิ์ ผู้เขียน
ว่าด้วยก่อนจะออกจากเมือง พระเวสสันดรขอโอกาสทำมหาทาน คือ การให้สิ่งของอย่างละ 700 เป็นมหาทาน(สัตตสตกมหาทาน)
บาลี
คาถาที่ 100 (1078) เตสํ ลาลปิตํ สุตฺวา ปุตฺตสฺส สุณิสาย จ
กลูนํ ปริเทเวสิ ราชปุตฺตํ ยสสฺสินี ฯ
(แปล) พระนางผุสดีราชบุตรีผู้เรืองยศ ได้ทรงสดับคำที่ พระราชโอรสและพระสุณิสาพร่ำสนทนากัน ทรงคร่ำครวญละห้อยไห้
คาถาที่ 242 (1107) ราชา กุมารมาทาย ราชปุตฺตี จ ทาริกํ
สมฺโมทมานา ปกฺกามุ อญฺญมญฺญํ ปิยํ วทา ฯ
(แปล) พระราชาทรงอุ้มพระโอรส ส่วนพระราชบุตรีทรงอุ้มพระธิดา ทรงยินดีร่วมกันดำเนิน ตรัสปราศรัยด้วยน้ำคำอันน่ารักกะกันและกัน
ความไทย
เมื่อพระนางผุสดีทรงทราบว่า พระเวสสันดรโอรส ถูกประชาชนกล่าวโทษว่า พระราชทานช้างปัจจัยนาคเป็นทาน และถูกลงโทษให้เนรเทศจากพระนครสีพี ก็ตกพระทัย รีบเสด็จมาพบพระเวสสันดรและนางมัทรีที่กำลังปรับทุกข์กันอยู่ ก็ทรงกรรแสงโศกาอาดูร แล้วเสด็จเข้าไปเฝ้าพระเจ้ากรุงสัญชัย ทูลขอประทานอภัยโทษ แต่ก็ไม่สําเร็จ ด้วยท้าวเธอตรัสว่า ให้เนรเทศตามกฎของธรรมศาสตร์ราชประเพณี ครั้นพระนางผุสดีทรงสดับ ก็จํานน ก่นแต่โศกร่ำไรรําพันมากมายตามวิสัยมารดาที่รักบุตร ตลอดจนสาวสนมกํานันนางใน และประชาชนที่รักใคร่ พากันอาลัยทั่วหน้า
รุ่งขึ้น ได้เวลา พระเวสสันดรได้ทรงบริจาคสัตตสตกมหาทาน คือ การให้ครั้งใหญ่ โดยกําหนดจำนวนของที่จะบริจาค ไว้สิ่งละ 700 คือ
1. ช้าง 700 เชือก
2. ม้า 700 ตัว
3. โคนม 700 ตัว
4. รถ 700 คัน
5. นารี 700 นาง
6. ทาส 700 นาย
7. ทาสี 700 นาง
8. สรรพวัตถาภรณ์ต่าง ๆ อย่างละ 700 ชิ้น
9. ที่สุดแม้สุราบาน ก็ได้ประทานแก่นักเลงสุรา
ครั้นเสร็จการทำสัตตสตกมหาทานแล้ว พระเวสสันดรก็ทรงพานางมัทรี ไปทูลลาพระชนกและพระชนนี เพื่อออกไปบําเพ็ญพรตอยู่เขาวงกต พระเจ้ากรุงสัญชัยขอให้พระนางมัทรี ชาลี และกัณหาอยู่ในนคร พระนางมัทรีไม่ยอมยั้งอยู่ ทั้งไม่ยอมให้โอรสธิดาอยู่ด้วย เป็นอันถูกเนรเทศด้วยกันทั้งหมด
รุ่งขึ้น พระเวสสันดร พระนางมัทรีพร้อมด้วยพระโอรสทั้งสอง ก็เสด็จทรงรถม้าพระที่นั่ง เสด็จออกจากพระนคร บ่ายพระพักตร์เข้าสู่ไพร ก่อนที่จะลับพระนครไป ทรงหันกลับมามองพระนครด้วยความอาลัย แล้วก็เสด็จประเวศ ยังมิทันที่จะพ้นเขตชานพระนคร ก็ทรงประทานม้าเทียมรช และราชรถ แก่พราหมณ์ในระหว่างทางที่ตามมาทูลขอ แล้วต่างองค์ก็ทรงอุ้มพระโอรสดําเนินเข้าไพร โดยตั้งพระทัยมุ่งหน้าไปสู่เขาวงกต[1]
หมายเหตุ
สุรา หรือ น้ำเมา เป็นสิ่งที่ไม่ควรพระราชทาน เพราะการให้สุรา ไม่ถือว่าเป็นการให้ทาน เพราะไม่มีผลก็จริง แต่พระเวสสันดร เกรงนักเลงคอสุรา เมื่อมาขอแล้วไม่ได้ดื่ม และจะตำหนิเอาว่าใจไม่ถึง เรื่องนี้ พระอรรถถกถาจารย์ได้ยกคำศัพท์มาขยายความว่า “บทว่า วารุณึ ความว่า พระเวสสันดรทรงทราบว่า การให้น้ำเมาเป็นทานไร้ผล แม้เมื่อเป็นอย่างนั้น ก็ทรงดำริว่า พวกนักเลงสุรามาถึงโรงทานแล้ว อย่าได้กล่าวว่า ไม่ได้ดื่มสุราในโรงทานของพระเวสสันดร จึงให้พระราชทาน”[2]
ในนาทีสุดท้าย เมื่อทรงขับราชรถเทียมม้า 4 ตัว เสด็จออกจากเมือง ยังไม่พ้นชานเมือง ยังมีคน ตามมาขอม้าเทียมราชรถไปทั้งหมด และเมื่อเหลือเพียงราชรถ ก็ยังมีคนมาขอไปอีก พระเวสสันดรก็พระราชทานให้หมด เสด็จพระราชดำเนินด้วยพระบาท พระองค์อุ้มโอรสชาลี ส่วนพระนางมัทรีอุ้มธิดากัณหาชินา
เวสสันตรจริยากล่าวสรุปว่า “ครั้นให้มหาทานแล้ว ก็ออกจากพระนครไปในกาลนั้น ครั้นเราออกจากพระนครแล้ว กลับผินหน้ามาเหลียวดู แม้ในกาลนั้น แผ่นดินเขาสิเนรุราชและป่าหิมพานต์ ก็หวั่นไหว เราให้ม้าสินธพ 4 ตัว และรถ แล้วยืนอยู่ที่ทางใหญ่ 4 แยก ผู้เดียวไม่มีเพื่อนสอง ได้กล่าวกะพระนางมัทรีเทวี ดังนี้ว่า
“ดูกรแม่มัทรี เธอจงอุ้มกัณหากุมารีเถิด เพราะเธอเป็นน้องคงเบากว่า พี่จะอุ้มพ่อชาลี เพราะเขาเป็นพี่คงจะหนัก พระนางมัทรีทรงอุ้มแม่กัณหาผู้อ่อนนุ่ม ดังดอกปทุมและบัวขาว เราได้อุ้มพ่อชาลีหน่อกษัตริย์ เปรียบดังแท่งทองคำ”[3]
[1] พระธรรมโกศาจารย์ (ชอบ อนุจารีเถระ), เรื่องเดียวกัน, หน้า๙๓.
[2] ชาตฏฐกถา ทสโม ภาโค, หน้า ๓๒๓, “วรุณินฺติ มชฺชทานํ นาม นิปฺผลนฺติ ชานาติ, เอวํ สนฺเตปิ สุราโสณฺฑา ทานคฺคํ ปตฺตา เวสฺสนฺตรสฺส ทานคฺเค สุรํ น ลภิมฺหาติ วตฺตุ มา ลภนฺตูติ ทาเปสิ.”
[3] พระไตรปิฎกบาลี เล่มที่ ๓๓, ขุททกนิกายสฺส อปทานสฺส ทุติโย ภาโค พุทฺธวํโส-จริยาปิฎกํ, เวสฺสนฺตรจริยํ, ข้อ ๙, หน้า ๕๕๙-๕๖๕ และ พิสิฏฐ์ โคตรสุโพธิ์, “พระมหาเวสสันตรทีปนี : สาระ คุณค่า และนัยสำคัญต่อวิถีสังคมและวัฒนธรรมล้านนา”, ตามรอยพระสิริมังคลาจารย์ สังฆปราชญ์ล้านนา, สำนักวิชาการ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย วิทยาเขตเชียงใหม่, ๒๕๕๕.