กัณฑ์ที่ 2 หิมพานต์ (หิมวันตะ หรือ หิมวันตวรรณนา(หิมพานต์) ประกอบด้วยคาถา 86 คาถา)

ดร. พิสิฏฐ์ โคตรสุโพธิ์ ผู้เขียน

ว่าด้วยพระนางผุสดี จุติลงมาเกิด และได้เป็นมเหสีของเจ้าสีพี ประสูติพระเวสสันดร และพระเวสสันดรให้ให้ทานช้างมงคลแก่พราหมณ์ 8 คน ราชทูตชาวกาลิงครัฐที่มาขอ ประชาชนชาวนครสีพีไม่พอใจ จึงประชุมพากันขับไล่ เนรเทศให้ไปอยู่เขาวงกต(เขาคันธมาทน์) ในป่าหิมพานต์

บาลี

คาถาที่ 14 (1051)  ตโต จุตา  ผุสฺสตี               ขตฺติเย อุปปชฺชถ

                              เชตุตรมฺหิ นคเร                  สญฺชเยน สมาคมิ ฯ

(แปล)   พระนางผุสดีเทพอัปสร จุติจากดาวดึงสเทวโลกนั้น มาบังเกิดในสกุลกษัตริย์ ได้ทรงอยู่ร่วมกับพระเจ้าสัญชัย ในพระนครเชตุดร(สีพี)

คาถาที่ 99 (1077) ยทา เหมนฺติเก                  มาเส   วนํ ทกฺขสิ ปุปฺผิตํ

                             โอปุปฺผานิ จ ปทฺมานิ             น รชฺชสฺส สริสฺสสิ ฯ

(แปล) เมื่อใด พระองค์ได้ทรงทอดพระเนตรเห็นหมู่ไม้มีดอกบานสะพรั่ง และปทุมชาติอันมีดอกร่วงหล่น ในเดือนฤดูเหมันต์ เมื่อนั้น จักไม่ทรงระลึกถึงราชสมบัติ

ความไทย    

เมื่อพระนางผุสดี เทพอัปสร จุติจากสวรรค์ ลงมาเกิดเป็นราชธิดาของพระเจ้ามัททราช ครั้น เจริญวัย ก็มีพระสิริรูปงดงามสมตามที่ปรารถนาไว้ เมื่อมีพระชนมายุได้ 16 ปี ก็ได้รับการอภิเษกให้เป็นมเหสี ของพระเจ้าสัญชัยสีวีรัฐนคร ครั้นทรงครรภ์ถ้วนกําหนดทศมาส(10 เดือน)  เป็นเวลาบังเอิญที่พระนางกำลังเสด็จประพาสพระนคร ถึงระหว่างถนนพ่อค้า ก็ทรงประสูติพระโอรสที่ตรอก หรือถนนพ่อค้า ในเวลาขณะประพาสพระนครนั้น

เนื่องเพราะพระโอรสประสูติในท่ามกลางถนนพ่อค้า(เวสสะ+อันตระ) พระประยูรญาติจึงถวายพระนามพระโอรสว่า “เวสสันดร”พระกุมารน้อยพอประสูติจากครรภ์พระมารดา ก็ทูลขอเงินกะพระมารดาเพื่อบริจาคทาน นับเป็นเหตุการณ์อัศจรรย์ปรากฏแก่ชุมนุมชน และในวันนั้นเอง นางช้างตระกูลฉัตทันต์เชือกหนึ่ง ได้นําเอาลูกช้างเผือก สีขาวบริสุทธิ์วิเศษมาไว้ในโรงช้างต้น ประชาชนต่างก็ชื่นชมพระบารมี ให้ชื่อช้างนั้นว่า “ปัจจัยนาค” ถือเป็น บุรพนิมิตมงคลของพระนครสีพียิ่งนัก  

เวสสันดรกุมาร มีน้ำพระทัยมากไปด้วยเมตตากรุณา ทรงบริจาคทานเป็นเนืองนิตย์ ครั้นมีพระชนมายุได้ 16 พรรษา พระราชบิดาก็มอบราชสมบัติให้ครอง ทั้งสู่ขอพระนางมัทรี พระราชธิดาของราชวงศ์กษัตริย์มัททราชมาอภิเษกให้เป็นพระมเหสี และเมื่อพระเวสสันดรได้ครองพระนครสีพีแล้ว ก็รับสั่งให้สร้างโรงทาน ถึง 6 แห่ง เพื่อการบริจาคทานแก่ยาจกเข็ญใจ ต่อมาพระองค์มีพระโอรส 1 องค์ ประทานนามว่า “ชาลี” และพระธิดาอีก 1 องค์ ประทานนามว่า “กัณหา”หรือ “กัณหาชินา”

อนึ่ง ช้างปัจจัยนาคนั้น ปรากฏว่า เป็นช้างแก้ว อุดมด้วยมงคลลักษณะอันเลิศยิ่งนัก ไม่ว่าจะขับขี่ไปในประเทศที่ใด แม้ที่นั้นจะมีภัยแห้งแล้ง ฝนก็จะบันดาลตกลงมา ทําให้ประเทศนั้นสดชื่น ด้วยฝนฉ่ำน้ำฉ่ำ ข้าวปลาอุดมสมบูรณ์บริบูรณ์ทันที กิตติศัพท์อันนี้ฟุ้งขจรไปไกลว่า พระเวสสันดรเป็นกษัตริย์ มีบุญญาธิการมาก เสมอด้วยพระเจ้าจักรพรรดิ์มหาราช จึงได้ทรงมีช้างแก้วเช่นนี้เป็นราชพาหนะ

ต่อมา พระเจ้ากาลิงคะ มหากษัตริย์แห่งกาลิงครัฐ ได้ส่งพราหมณ์ 8 คน เป็นราชทูตมาขอช้างปัจจัยนาค โดยอ้างว่า พระนครของพระองค์เกิดข้าวยากหมากแพง ฝนแล้ง แม้จะได้พยายามบําเพ็ญพิธีกรรมต่าง ๆ เพื่อให้ฝนตก เช่น รักษาอุโบสถศีลเป็นต้นก็แล้ว ฝนฟ้าก็หาตกลงไม่ จึงจําเป็นต้องมาขอพึ่งพระบารมีโพธิสมภาร ขอพระราชทานช้างปัจจัยนาคไป เพื่อความสวัสดีแก่ชาวนครกาลิงคะ พระเวสสันดร ก็พระราชทานให้ตามพระราชประสงค์

ประชาชนชาวพระนครสีพีต่างไม่พอใจ โกรธแค้นต่อพระเวสสันดร ที่ได้พระราชทานช้างมงคลเช่นนั้นออกไป จึงได้พากันเข้าไปเฝ้าพระเจ้าสัญชัย ยกโทษกล่าวฟ้องว่า การที่พระเวสสันดรให้ช้างปัจจัยนาคเป็นทานนั้น ไม่เป็นที่ปรารถนาของประชาชนทั่วหน้า ขอให้พระเจ้าสัญชัยขับไล่เนรเทศพระเวสสันดรไปเสียจากพระนคร

พระเจ้าสัญชัยจึงมีพระราชโองการให้เนรเทศพระเวสสันดรจากพระนครสีพีไป ตามมติของประชาราษฎร์ ในที่สุดพระเวสสันดรพร้อมด้วยพระนางมัทรี กับชาลี กัณหา โอรสธิดาทั้งสองพระองค์ ก็ต้องพากันเนรเทศออกจากพระนครที่รักไป ด้วยความระทมใจ ตั้งพระทัยไปอยู่ ณ เขาวงกต ตามที่ อำมาตย์ ผู้จงรักภักดี ต่อพระองค์ถวายคำแนะนำ

ก่อนที่จะเสด็จออกจากพระนคร พระเวสสันดรได้ทูลขอพระราชทานโอกาสยับยั้งอยู่เพียง 1 วัน  เพื่อให้พระองค์ได้บําเพ็ญ “สัตตสตกมหาทาน” คือ ให้ของสิ่งละ 700  เป็นพิเศษ เป็นการบําเพ็ญครั้งใหญ่ ก่อนจะจากนครเป็นครั้งสุดท้าย เมื่อพระองค์ออกจากนครไปด้วยราชรถ พอพ้นประตูเมือง   แม้รถทรง ม้าคู่เทียมรถ ก็มียาจกตามมาขอ ก็ทรงเปลื้องปลดให้เป็นทานสิ้น แล้วพระองค์ทรงอุ้มพระโอรสชาลี พระนางมัทรีทรงอุ้มพระธิดากัณหา ทั้ง 4 พระองค์ พากันเสด็จดําเนินด้วยพระบาท จากพระนครไปสู่เขาวงกต โดยมุ่งจะไปบําเพ็ญพรตเป็นฤาษี ณ ที่นั้น [1]

หมายเหตุ

ในกัณฑ์นี้ พระบาลีไม่ได้ระบุเหตุการณ์ชัด ๆ เพียงแต่บอกคร่าว ๆ ว่า นาง ผุสดีเกิดในสกุลกษัตริย์ และได้มาเป็นอัครมเหสีของพระเจ้าสัญชัย แห่งนครเชตุดร หรือ นครสีพี แต่อรรถกถาขยายเรื่องราวว่า เมื่อพระนางจุติจากสรวงสวรรค์ มาเกิดในพระครรภ์พระมเหสีพระเจ้ามัทราช เมื่ออายุได้ 16 พรรษา นางผุสดีจึงได้ถูกขอมาเป็นอัครมเหสีของพระเจ้าสัญชัย  นางผุสดีได้พรครบ 10 ประการ คือ ทรงครรภ์และประสูติพระโอรสที่ถนนพ่อค้า พระโอรสจึงถูกขนานนามว่า “เวสสันดร” ดังความว่า “ชื่อของเราไม่ได้เกิดแต่พระมารดา ไม่ได้เกิดแต่พระบิดา เราเกิดที่ถนนพ่อค้า เพราะเหตุนั้น เราจึงชื่อว่า เวสสันดร”[2] 

นับแต่พระโอรสอยู่ในครรภ์ นางผุสดีก็มีใจอยากทำมหาทานบริจาคมาก จึงให้สร้างโรงทาน 6 แห่ง สละทรัพย์วันละ 600,000 กหาปณะ (2,400,000 บาท โดย 4 บาท เป็น 1 กหาปณะ) เมื่อพระเวสันดรอายุได้ 16 พรรษา ได้สยุมพรกับพระนางมัทรี ธิดาของพระเจ้าอาว์จากมัททราช พระองค์ยินดีในการบริจาคตลอดเวลา ทรงได้โอรสนามว่า “ชาลี” (เพราะนำข่ายทองรองรับตอนประสูติ) และธิดานามว่า “กัณหาชินา” (เพราะนำหนังหมีดำรองรับ: กัณหะ = สีดำ, อชินะ = หนังหมี) พระนามของโอรส และพระธิดา ต่างได้ตามเหตุการณ์นั้น ๆ พระเจ้าสัญชัย พระบิดามอบให้พระเวสสันดรทรงปกครองราชสมบัติแทน

สาเหตุที่พระเวสสันดรต้องถูกชาวเมืองไม่พอใจ ขับไล่ออกไปจากเมืองนั้น เพราะพระองค์พระราชทานช้างปัจจัยนาค อันเป็นช้างมงคล พระราชพาหนะ พร้อมด้วยคชาภรณ์อันประมาณค่ามิได้ แก่พราหมณ์ 8 คน ราชทูตชาวเมืองกาลิงคะที่มาขอ เพื่อต้องการไปแก้ภัยฝนแล้ง

และก่อนที่จะออกจากพระนครเพราะถูกเนรเทศนั้น พระเวสสันดรขอโอกาสอยู่อีกวันเดียว เพื่อทำสัตตสตกมหาทาน (ทานสิ่งของอย่างละ 700) แล้วจะเดินทางไปอยู่ที่เขาวงกตในป่าหิมพานต์

พระเวสสันดรได้ซาบซึ้งต่อน้ำใจของพระนางมัทรีว่า พระนางจะไม่ทอดทิ้งพระองค์ไปในยามทุกข์ยาก อันที่จริงแล้ว พระองค์ประสงค์จะไปแต่ลำพังพระองค์เดียว เพราะทำความผิดเพียงคนเดียว ต้องการให้นางมัทรีและโอรสธิดาอยู่ที่พระราชวัง ด้วยไม่อยากให้ไปตกระกำ ลำบาก ทุกข์ยาก  แต่นางมัทรีพร้อมโอรสธิดาตัดสินพระทัยขอติดตามไป โดยจะไม่ทิ้งกันในยามยาก ดังที่นางมัทรีกล่าวว่า

“การตายพร้อมกับพระเวสสันดร หรือ การมีชีวิตอยู่โดยพรากจากพระเวสสันดรนั้น พระนาง ขอเลือกเอาการตายดีกว่า ที่ต้องอยู่อย่างปราศจากพระองค์[3]  พระนางและพระโอรสธิดาจะตามเสด็จไปทุกที่ที่พระองค์เสด็จ”

นายนักการ ได้บอกหนทางที่จะไปสู่เขาวงกต ส่วนพระนางมัทรีเองก็เล่าถึงสัตว์และสิ่งต่าง ๆ ที่มีอยู่ในป่าหิมพานต์ว่า สรรพสิ่งล้วนน่ารื่นรมย์ เมื่อพระเวสสันดรได้ทอดพระเนตรสิ่งต่าง ๆ เหล่านั้นแล้วพระทัยของพระองค์ก็จะไม่คิดถึงราชสมบัติ พระนางมัทรีเล่าเสมือนว่าเป็นชาวพื้นถิ่นหิมพานต์

กัณฑ์ที่ 2 หิมพานต
ศิลปิน : ศิววงศ์ รักวงศ์วริศ

อ้างอิง

[1] พระธรรมโกศาจารย์ (ชอบ อนุจารีเถระ), เรื่องเดียวกัน, หน้า ๕๘.

[2] ขุททกนิกาย จริยาปิฏกํ เล่ม ๓๓  ข้อ ๗๗ หน้า ๕๙๑, “น มยฺหํ  มตฺติกํ นามํ         นปิ เปตฺติกสมฺภวํ  ชาโตมฺหิ เวสฺสวิถียํ               ตสฺมา เวสฺสนฺตโร อหุ ฯ”

[3]  ชาตฏฐกถา ทสโม ภาโค, หน้า ๓๑๑,  “มรณํ วา ตยา สทฺธึ      ชีวิตํ วา ตยา วินา ตเทว มรณํ เสยฺโย         ยํ เจ ชีเว ตยา วินา ฯ”

Leave a Comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *