กัณฑ์ที่ 1 ทศพร (ทสวรคาถา หรือ ทสวรคาถาปัพพะ (ทศพร) ประกอบด้วยคาถา 13 คาถา)

ดร. พิสิฏฐ์ โคตรสุโพธิ์ ผู้เขียน

            ว่าด้วยพร 10 ประการ ที่พระอินทร์ประทานแก่นางผุสดีก่อนจุติลงมาเกิดโลกมนุษย์

บาลี    

                คาถาที่ 1 (1045)  ผุสฺสตี วรวณฺณาเภ                  วรสฺสุ ทสธา วเร

                   ปฐพฺยา จารุปุพฺพงฺคี               ยํ ตุยฺหํ มนโส ปิยํ ฯ

(แปล) ดูกรผุสดี ผู้มีรัศมีแห่งผิวพรรณอันประเสริฐ ผู้มีอวัยวะส่วนเบื้องหน้างาม     เธอจงเลือกเอาพร 10  ประการ ในปฐพี ซึ่งเป็นที่รักแห่งหฤทัยของเธอ

คาถาที่ 13 (1051) อิทํ วตฺวาน มฆวา                 เทวราชา สุชมฺปติ

                   ผุสฺสติยา วรํ ทตฺวา                 อนุโมทิตฺถ  วาสโว ฯ

(แปล) ครั้นท้าววาสวะ มฆวา สุชัมบดีเทวราชตรัสอย่างนี้แล้ว ก็โปรดประทานพร    แก่พระนางผุสดี เทพอัปสร

ความไทย  

จําเนียรกาลมา พระนางผุสดีเทพอัปสรจะสิ้นบุญ ต้องจุติ ท้าวสักกะพระสวามีทรงทราบ จึงพาพระนางไปประทับยังสวนนันทวันในเทวโลก เพื่อความสําราญพระทัย แล้วตรัสบอกว่า บัดนี้ เธอสิ้นบุญ จะต้องจุติไปบังเกิดในโลกมนุษย์แล้ว ฉันจะให้พร 10 ประการ (ทศพร: ทศ = 10, พร = สิ่งที่เลิศ ) เธอจงเลือกเอาตามใจเถิด

พระนางผุสดีได้ทูลขอรับพร 10 ประการ ตามที่พอใจ ดังนี้ 

                  1. ขอให้หม่อมฉัน ได้อยู่ในปราสาทของพระเจ้าสีวิราชแห่งพระนครสีพี 

                  2. ขอให้หม่อมฉัน มีจักษุดํา ดุจนัยน์ตาลูกเนื้อ 

                  3. ขอให้หม่อมฉัน มีคิ้วดําสนิท 

                  4. ขอให้หม่อมฉัน มีนามว่าผุสดี

                  5. ขอให้หม่อมฉัน มีพระโอรสที่ทรงเกียรติยศ เหนือกษัตริย์ทั้งหลาย และมีใจบุญ 

                  6. ในเวลาทรงครรภ์ ขออย่าให้ครรภ์ของหม่อมฉันนั้นนูนปรากฏดังสตรีสามัญ

                  7. ขอให้หม่อมฉัน มีถันงามในเวลาทรงครรภ์ก็อย่ารู้ดำและต่อไปก็อย่าให้หย่อนยาน

                  8. ขอให้หม่อมฉัน มีเกศาดําสนิท

                  9. ขอให้หม่อนฉัน มีผิวงาม

                  10. ขอให้หม่อนฉัน ทรงอํานาจปลดปล่อยนักโทษได้[1]

หมายเหตุ

 พระอรรถกถาจารย์ ท้าวความย้อนอดีตชาติของพระนางผุสดีว่า เมื่อ 91 กัล์ปที่ผ่านมา  สมัยพระพุทธเจ้า พระนามว่า วิปัสสี พระนางผุสดีเกิดเป็นพระราชธิดาองค์ใหญ่ ของพระเจ้าพันธุมราช  นครพันธุมวดี พระนางได้นำแก่นจันทน์ที่พระบิดาพระราชทาน มาบดเป็นผงและถวายเป็นพุทธบูชา ปรารถนาอยากเกิดเป็นพระพุทธมารดาองค์ที่จะมาตรัสรู้ในอนาคต [2] ส่วนพระราชธิดาองค์น้อย ถวายเครื่องประดับทรวง ทั้ง 2 พระองค์ ครั้งล่วงเวลา 91 กัล์ปมา ก็ได้มาเกิดเป็นพระราชธิดาของพระเจ้า กิกิ(บางแห่งกึกิ)  นามว่า อุรัจฉทา และได้สดับพระธรรมเทศนา ของพระพุทธเจ้านามว่า กัสสปะ ก็ได้บรรลุเป็นพระอรหันต์ ส่วนพระราชธิดาองค์พี่ นามว่า สุธรรมา ในพระราชธิดาอีก 7 พระองค์ของพระเจ้ากึกิ และในสมัยพระสิทธัตถะ ศากยโคตมพุทธเจ้า ก็ได้มาเกิดเป็นบุคคลต่างๆ ดังความว่า “นางสมณี นางสมณคุตตา นางภิกษุณี นางภิกขุทาสิกา นางธรรมา นางสุธรรมาและนางสังฆทาสีเป็นที่ 7  ราชธิดาทั้ง 7 เหล่านั้น ในพุทธุปบาทกาลนี้ มีนามปรากฏคือ นางสมณี คือ นางเขมา นางสมณคุตตา คือ นางอุบลวรรณา นางภิกษุณี คือ นางปฏาจารา นางภิกขุทาสิกา คือ พระนางโคตมี นางธรรมา คือ นางธรรมทินนา นางสุธรรมา คือ พระนางมหามายา และ นางสังฆทาสี คือ นางวิสาขาเป็นที่ 7 ตามลำดับ

ในราชธิดา 7 นางเหล่านั้น นางสุธรรมา ครั้นจุติจากภพนั้นก็อุบัติไปเกิดเป็นเทพธิดา มีนามว่า “ผุสดี   พระนางผุสดีเป็นมเหสีของท้าวสักกะ หรือ พระอินทร์บนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์  เพราะพระนางสิ้นบุญลงก่อนจะลงมาเกิดจึงได้รับพร 10 ประการจากพระอินทร์ แล้วพระนางก็จุติ(เคลื่อน)มาเกิด(ปฏิสนธิ)เป็นพระนางผุสดี คงชื่อเดิม และได้เป็นพระมเหสีของพระเจ้าสัญชัย ผู้ครองนครสีพี เป็นพระมารดาพระเวสสันดร และมาเกิดเป็นพระนางสิริมหามายา พระพุทธมารดาในพุทธุบาทกาลนี้

อนึ่ง พร 10 ประการนี้ ถ้าจะกล่าวย่นย่อลงมา ก็คือ นางผุสดี ขอรูปงาม นามเพราะ  จำนวน 7 พร อีก 3 พร คือ เป็นสมบัติ 1 พร และอำนาจเกียรติยศ อีก 2 พร ดังนี้  

ก.  ขอรูปงาม มี 6 พร คือ  พรข้อที่ 2 ตางาม, พรข้อที่ 3 คิ้วงาม, พรข้อที่ 6 ครรภ์งาม, พรข้อที่ 7 ถันงาม, พรข้อที่ 8 ผมงาม และพรข้อที่ 9 ผิวงาม

ข.  ขอนามเพราะ คือ พรข้อที่ 4 ขอให้มีนาม ผุสดี เหมือนเดิม คำว่า ผุสฺสตี เพราะความเป็นผู้มีสรีระอ่อนนุ่ม ดุจถูกประพรมไว้ด้วยแก่นจันทน์แดง (รตฺตจนฺทนปริปฺโผสิเตน วิย สรีเรน ชาตตฺตา ผุสฺสตี นาม กุมาริกา)

ค. ขอสมบัติ คือ พรข้อที่ 1 ขอให้อยู่ในปราสาท ราชวัง

ง. ขออำนาจเกียรติยศ คือ พรข้อที่ 5 ขอพระโอรสที่ทรงเกียรติยศเหนือกษัตริย์ทั้งหลาย และ พรข้อที่ 10 ขอให้นางทรงอํานาจสามารถปลดปล่อยนักโทษจากที่คุมขังได้

ในที่สุด ท้าวสักกะ องค์อัมรินทราธิราช ก็ทรงประสาทพรทั้ง 10 ประการ ให้พระนาง ผุสดี สมมโนรถดังที่พระนางปรารถนาทุกประการ

 

กัณฑ์ที่ 1 ทศพร 
ศิลปิน : พระพิษณุ   ลมูลภักตร์


            [1] พระธรรมโกศาจารย์ (ชอบ อนุจารีเถระ), ปริทรรศน์ เวสสันดรชาดก, หน้า 35.
            [2] ภนฺเต อนาคเต กาเล ตุมหาทิสสฺส พุทฺธสฺส มาตา ภเวยฺยนฺติ ปตฺถนํ อกาสิ

Leave a Comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *