กัณฑ์ที่ 7 มหาพน (มหาวนวรรณนาประกอบด้วยคาถา 133 คาถา)

ดร. พิสิฏฐ์ โคตรสุโพธิ์ ผู้เขียน

         ว่าด้วย ชูชกเดินทางมาถึงป่าลึกที่เป็นอาศรมของอัจจุตฤาษี และได้รับการชี้ทางเข้าไป พร้อมลักษณะที่อยู่ของพระเวสสันดร

            บาลีว่า

คาถาที่ 435 (1144)  คจฺฉนโต โส ภารทวาโช                  อทฺทส อจฺจุตํ อิสึ

                          ทิสฺวาน ตํ ภารทวาโช                         สมฺโมทิ อิสินา สห

(แปล)ชูชกพราหมณ์ภารทวาชโคตรนั้น เมื่อเดินไปตามทางที่เจตบุตรพรานป่าแนะให้ ก็ได้พบอัจจุตฤาษี ครั้นแล้วได้เจรจาปราศรัยกับอัจจุตฤาษี

คาถาที่ 567 (1157) อิทํ สุตฺวา พฺรหฺมพนฺธุ                      อิสึ กตฺวา ปทกฺขิณํ

                          อุทฺทคฺคจิตฺโต ปกฺกามิ                         ยตฺถ เวสฺสนฺตโร ราชาฯ

(แปล) ชูชกผู้เป็นเผ่าพันธุ์แห่งพราหมณ์ ครั้นได้สดับถ้อยคำของอัจจุตฤาษีกระทำประทักษิณ มีจิตชื่นชมโสมนัส อำลามุ่งหน้าไปยังสถานที่ประทับของพระเวสสันดร

             ความไทยว่า   

            ครั้นชูชกเดินทางไปตามคําแนะนําของเจตบุตรก็พบ ท่านอัจจุตฤาษีที่อาศรม ไต่ถามทุกข์สุขตามธรรมเนียมของผู้แรกพบ และเมื่อได้รับการปฏิสันถารเป็นอย่างดีจากอัจจุตฤาษีเป็นที่พอใจแล้ว ก็เริ่มถามถึงที่อยู่ของ พระเวสสันดร ขอให้ช่วยบอกที่อยู่พร้อมทางที่จะไปด้วย

            อัจจุตฤาษีถามว่า พราหมณ์มาทำอะไร ? พลางสำทับดักคอว่า “จะมาขอทานหรือ ?  พระเวสสันดรอยู่กันเพียงสี่คนไม่มีสมบัติอะไร เพราะพระองค์กำลังตกยากอยู่ แกคงจะมาขอพระนางมัทรี หรือ พระโอรสธิดาเป็นแน่”

            ชูชกแก้ตัวว่า ท่านอาจารย์เข้าใจผิด ผมไม่โกรธดอก คนอย่างผมหรือจะมาเที่ยวขอให้เสื่อมเสียพงศ์พราหมณ์ ผมมาเพื่อมานมัสการพระเวสสันดรเอาบุญ มาเยี่ยมท่านจริง ๆ ได้เห็นท่านเป็นกุศล ได้สมาคมกับท่านเป็นความสุข ตั้งแต่ท่านจากเมืองมายังไม่ได้เคยพบปะเลย กรุณาแนะนําให้ได้พบท่านสักหน่อยเถิด

            เมื่อชูชกเอาความดีเข้าต่อเช่นนี้ อัจจุตฤาษีก็ใจอ่อน หลงเชื่อว่าเป็นความจริง จึงให้ชูชกค้างอยู่ที่อาศรมคืนหนึ่ง  รุ่งเช้าจัดให้ชูชกบริโภคผลไม้และเผือกมัน แล้วก็พาไปส่งถึงต้นทาง ชี้บอกทางไปสู่อาศรมของพระเวสสันดรอย่างละเอียดถี่ถ้วน แถมพรรณาถึงภูเขา ป่าไม้ ฝูงสัตว์ต่าง ๆ อย่างมากมาย  สมกับที่เรียกว่า มหาพน หรือ ป่าใหญ่ ชูชก กําหนด จดจําคําแนะนําของอจุตฤาษีจนเป็นที่พอใจ แล้วก็นมัสการลาไป[1]

กัณฑ์“มหาพน” คือ ป่าใหญ่   เพราะจำนวนป่าไม้และรุกขชาติที่จะต้องผ่านไปจากที่อัจจุตฤาษี จนถึงอาศรมของพระเวสสันดรมีมากมาย ชื่อต้นไม้นานาพรรณที่มีอยู่ในป่า เท่าที่ผู้เรียบเรียงลองนับดู พบว่ามีจำนวนมากกว่าที่กล่าวไว้ในกัณฑ์จุลพน คือ รุกขชาติมี 63 ชนิด  ลดาชาติมี 32 ชนิด ติณณชาติ มี  13 ชนิด  ปทุมชาติมี 5  ชนิด กีฏชาติ(แมลง) 3 ชนิด ธัญญชาติมี 12 ชนิด มฤคชาติมี  34  ชนิด ปักษีชาติมี 54 ชนิด    มัจฉาชาติมี 7 ชนิด(ที่แปลกคือมีปลาฉลาม ซึ่งเป็นสัตว์น้ำเค็ม ไม่น่าจะมีอยู่ที่น้ำจืดในสระมุจลินทร์ป่าหิมพานต์)  รวมทั้งหมดได้ 9  กลุ่ม จำนวนรายชื่อต่าง ๆ ถึง 223 ชนิด (ซึ่งอาจมีมากกว่าจำนวนนี้)

            [1] พระธรรมโกศาจารย์ (ชอบ อนุจารีเถระ), เรื่องเดียวกัน, หน้า 231.

Leave a Comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *