กัณฑ์ที่ 6 จุลพน (จุลลวนวณฺณนา ประกอบด้วยคาถา 55 คาถา)

         ว่าด้วยชูชกได้รับการต้อนรับจากพรานเจตบุตร ด้วยหลงเชื่อว่าเป็นราชทูตจากนครสีพี เข้ามาอัญเชิญพระเวสสันดร กลับเมือง พร้อมกับชี้ทิศทางเข้าไปสู่ป่าที่พระเวสสันดรอยู่ ให้อย่างละเอียด พร้อมกับพูดถึงป่าไม้นานาพรรณในป่าข้างหน้าจากด่าน ประตูป่า ที่กำลังเข้าไป จุลพน แปลว่า ป่าน้อย

         บาลี

คาถาที่ 380 (1139) เอส เสโล มหาพฺราหฺเม          ปพฺพโต คนฺธมาทโน

                   ยตฺถ เวสฺสนฺตโร ราชา              สห ปุตฺเตหิ สมฺมติ ฯ

(แปล) ดูกรมหาพราหมณ์ นั่นภูเขาคันธมาทน์อันล้วนแล้วด้วยหิน พระเวสสันดรเจ้า พร้อมด้วยพระโอรสพระธิดาและพระมเหสีทรงเพศนักบวชอันประเสริฐ

คาถาที่ 434 (1143) อิทํ สุตฺวา พฺรหฺมพนฺธุ               เจตํ กตฺวา ปทกฺขิณํ

                   อุทฺทคฺคจิตฺโต ปกฺกามิ                 เยนาสิ อจฺจุโต อิสิ ฯ

(แปล) ชูชกผู้เป็นเผ่าพันธุ์แห่งพราหมณ์ ได้ฟังคำของเจตบุตรดังนี้แล้ว มีจิตยินดีเป็นอย่างยิ่ง กระทำประทักษิณเจตบุตรแล้ว ได้เดินทางตรงไป ณ สถานที่อันอัจจุตฤาษีสถิตอยู่

         ความไทย  

         พรานเจตบุตร นายด่านประตูป่า ฟังคารมชูชกเจ้าเล่ห์หลอกลวงว่าเป็นราชทูต ถือสาส์นมาเชิญพระเสสันดรกลับนคร จึงหลงเชื่อ พอใจ เลื่อมใส นับถือ ยําเกรง ถึงกับเสียสละอาหารต้อนรับ เลี้ยงดูชูชกอย่างเต็มที่ แล้วก็พาชูชกไปยังต้นทาง ชี้บอกทางให้ชูชกกําหนด หมายภูเขา และป่าไม้ กับพรรณนาความงามนานาของพฤกษชาติ สร้างความยินดี ให้มีกําลังใจ หายสะดุ้งหวาดกลัวต่อภัยในป่า ทั้งบอกระยะทางที่จะไปพบอาศรมอัจจุตฤาษี ซึ่งเป็นดุจสถานีที่พักในการเดินทาง และจะได้รับความปราณี จากอัจจุตฤาษีบอกทางให้ต่อไป จนถึงอาศรมของพระเวสสันดร[1]

         กัณฑ์จุลพนนี้ มีศัพท์บาลีที่บอกชื่อแมกไม้ และสัตว์น้ำต่างๆ เช่น  จารุติมฺพรุกฺขา ได้แก่ ต้นมะพลับทอง  มธุมธุกา ได้แก่ มะซางมีรสหวาน  ปาเรวตา ได้แก่ ต้นกล้วยงาช้าง  ภเวยฺยา ได้แก่ กล้วยมีผลยาว  วิเภทิกา ได้แก่ ต้นตาล   กุฏชี กุฏตคฺรา ได้แก่ รุกขชาติอย่างหนึ่งชื่อว่าไม้มูกมัน กอโกฐ และกอกฤษณา คิริปุนฺนาคา ได้แก่ บุญนาคใหญ่  โกวิฬารา ได้แก่ ต้นทองหลาง อุทฺธาลกา ได้แก่ ต้นราชพฤกษ์ดอกสีเหลือง  ภลลิยา ได้แก่ ต้นรักดำ  ลพุชา ได้แก่ ต้นขนุนสำมะลอ  ปุตฺตชีวา ได้แก่ ต้นไทรใหญ่  มกรนฺเทหิ ได้แก่ เกสร  ถูลา สึฆาฏกา ได้แก่ กระจับขนาดใหญ่ สสาทิยา ได้แก่ ข้าวสาลีเล็ก ๆ เป็นข้าวสาลีที่เกิดเอง เรียกว่า ข้าวสาลีบริสุทธิ์  พฺยาวิธา ความว่า เหล่าสัตว์น้ำชนิดต่าง ๆ เที่ยวไปเป็นกลุ่ม ๆ ในน้ำใส ว่ายไปตามลำดับปรากฏอยู่ มูปยานกา ได้แก่ ปู

         หมายเหตุ

             มหาเวสสันดร สำนวนอินลงเหลา กล่าวว่า สุนัขของพรานเจตบุตร ซึ่งมีอยู่มากมายหลายตัวนั้น ที่ไล่ขบชูชกต้องหลบเขี้ยวคม ปีนหนีขึ้นไปนั่งที่ค่าคบไม้ เดิมเล่าว่า มี 7 ตัว เป็นสุนัขพันธุ์ต่าง ๆ อย่างละตัว ได้แก่ พันธุ์ไทย พันธุ์พม่า พันธุ์ฮ่อ พันธุ์ญวน พันธุ์ไทใหญ่ พันธุ์ฝรั่ง และพันธุ์ไทลื้อ  ดังสำนวนว่า

                        “เค้ามันแท้ไส้มีอยู่ 7 ตัว             เอาปัดปัวเลี้ยงข้าว

                        ตัวแม่เฒ่านั้นเป็นเชื้อหมาไทย                ตัวแม่แดงผิวใสเป็นเชื้อหมาม่าน

                        ตัวแม่มุกแคว้นส้มแสวเป็นเชื้อหมาเงี้ยว ตัวแม่นาคช่างสอดเสี้ยวเป็นเชื้อหมากุลวา

                        แม่ขาวนั้นนาเป็นเชื้อหมาลื้อ

         ส่วนสำนวนไม้ไผ่แจ้เรียวแดงและสำนวนสร้อยสังกรให้รายชื่อสุนัขด้วย แต่ทั้งสองสำนวน กลับมีจำนวนสุนัขไม่เท่ากัน สำนวนไม้ไผ่แจ้เรียวแดงมีจำนวน 22 ตัว สำนวนสร้อยสังกรมีจำนวน 24 ตัว  แต่ทั้งสองสำนวนก็ยืนยันว่า สุนัขที่กลุ้มรุมกัดชูชกนั้นมีจำนวน 32 ตัว ดังคำว่า

         หมู่หมาดีมี 32 ตัว ก็มาหุมเห่า เฒ่าเล้าเก่ากลัวตาย" (สำนวนไม้ไผ่แจ้เรียวแดง) และ

         หมู่หมาดี 32 ตัว ก็มาห้อมเห่า เถ้าเล้าเก่ากลัวตาย มันก็คะยุยคะยายขึ้นต้นไม้ส้าน ต้านหย้านต้นไม้กว่าว ปาวหวาวตกไม้มี่" (สำนวนสร้อยสังกร)


            ๑ พระธรรมโกศาจารย์ (ชอบ อนุจารีเถระ), เรื่องเดียวกัน, หน้า๒๐๑.

Leave a Comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *