กัณฑ์ที่ 5 ชูชก (ชูชกปัพพะ (ชูชก) ประกอบด้วยคาถา 78 คาถา)

ว่าด้วยพราหมณ์ “ชูชก” เป็นยาจกนักขอ   ชาวบ้านทุนวิฏฐะ แคว้นกาลิงคะ ได้นางอมิตตา มาเป็นภรรยา เพราะพ่อแม่นางใช้สอยเงิน 100 กหาปณะ ที่ชูชกฝากไว้จนหมด ด้วยคิดว่าคงไม่กลับมาแล้ว  เมื่อชูชกกลับมาทวงเงินที่ฝาก ก็จนใจ จึงต้องยกลูกสาวให้ชูชกเป็นการล้างหนี้ ชูชกพานางไปอยู่บ้านทุนวิฏฐะ พวกพราหมณ์หนุ่ม ๆ ที่หมู่บ้าน เห็นนางปฏิบัติสามีชราดีกว่าภรรยาของพวกตน ก็พากันตบตีด่าว่าภรรยาของตน พวกภรรยา เจ็บกายและเจ็บใจมาก เมื่อเห็นนางอมิตตดามาสู่ท่านํ้า ก็รุมกันเข้าตบตีด่าว่าเหน็บแนมต่าง ให้นางช้ำใจ จนนางร้องไห้กลับบ้าน ชูชกเห็นนางเดินร้องไห้กลับมาจึงถาม นางบอกว่า ถูกภรรยาพราหมณ์รุมกันตบตีก่นด่า นับแต่นี้ไป นางจะไม่ทำงานบ้านอีกแล้ว แถมขัดให้ชูกขกไปขอชาลีกัณหามาเป็นทาส ชูชกด้วยความรักภรรยา จำใจอาสาออกเดินทางไปขอชาลีกัณหา  เที่ยวถามจนเข้าไปถึงประตูป่า แดนพรานเจตบุตร นายด่าน ที่พระเจ้าเจตราชสั่งให้เฝ้าอารักขาด่าน ต้นทางที่จะไปสู่อาศรมพระเวสสันดร

บาลี

คาถาที่ 302 (1123) อหุ วาสี กลิงฺครฏฺเฐ              ชูชโก นาม พฺราหฺมโณ

                               ตสฺสาปิ ทหรา ภริยา             นาเมนามิตฺตตาปนา ฯ

(แปล) พราหมณ์ ชื่อว่า ชูชก อยู่ในเมืองกลิงครัฐ ภรรยาของพราหมณ์นั้นยังสาว มีชื่อว่า อมิตตาปนา

คาถาที่ 379 (1138) ปิยสฺส เม ปิโย ทูโต              ปุณฺณปติตํ ททามิ เต

                   อิมญฺจ มธุโน ตุมฺพํ                 มิคสตฺถิญฺจ พฺราหฺมณ

                   ตญฺจ เต เทสมกฺขิสฺสํ               ยตฺถ สมฺมติ กามโท ฯ (6 บาท คาถา)

(แปล) ดูกรพราหมณ์ ท่านเป็นทูตที่รักของพระเวสสันดรผู้เป็นที่รักของข้าพเจ้า ข้าพเจ้าจะให้เต้าน้ำผึ้ง และขาเนื้อย่างเป็นบรรณาการแก่ท่าน และจักบอกประเทศที่พระเวสสันดรหน่อกษัตริย์ผู้ให้สำเร็จความประสงค์ประทับอยู่แก่ท่าน

ความไทย  

สมัยนั้น ในแคว้นกาลิงคะ มีพราหมณ์คนหนึ่ง ชื่อว่า “ชูชก” อยู่ในบ้าน “ทุนวิฏฐะ” เป็นนักขอทานที่เชี่ยวชาญ เที่ยวขอไปถึงต่างแคว้น เก็บทรัพย์ที่เหลือกินเหลือใช้ไว้ได้ถึง 100 กหาปณะ ชูชกได้นําทรัพย์จํานวนนี้ไปฝากพราหมณ์ผัวเมียตระกูลหนึ่งไว้ แล้วออกเที่ยวขอทานต่อไปเรื่อย ๆ

ต่อมาพราหมณ์ผัวเมียคู่นั้น ได้นำทรัพย์ของชูชกไปใช้สอยเสียหมด ครั้นชูชกกลับมาขอทรัพย์คืน ก็ขัดสนจนใจไม่สามารถจะหามาใช้คืนได้ จึงต้องยกนางอมิตตา หรือ อมิตตาปนา ลูกสาวให้แก่ชูชกทดแทนเงินที่เอาไปใช้ ชูชกจึงพานางอมิตตา ภริยาสาวไปอยู่บ้านทุนวิฏฐะ

นางอมิตตาได้ปฏิบัติชูชกในหน้าที่ของภรรยาที่ดีทุกประการ 

เมื่อผู้ชายในบ้านทุนวิฏฐะเห็นอย่างนั้นเข้า ก็พากันสรรเสริญ นางอมิตตา แต่กลับมา ดุว่าภรรยาของตนที่เกียจคร้าน เอาแต่เที่ยวแต่เล่น สู้นางอมิตตาเป็นเด็กกว่าก็ไม่ได้ นางพราหมณีทั้งหลาย ในบ้านนั้น ถูกสามีตําหนิ ก็เจ็บใจ แทนที่จะรู้สึกปรับปรุงตัว กลับพากันเคียดแค้น ชิงชังนางอมิตตา จึงรวมหัวกันวางแผนขับไล่นางอมิตตาปนาให้ออกไปจากบ้าน ชวนกันออกไปชี้หน้าด่าว่านางอมิตตาที่ท่าน้ำอย่างสาดเสียเทเสีย โดยไปด่าทอเยาะเย้ยว่า “สาวน้อยมาได้สามีแก่เพราะทำกรรมไม่ดีมาแต่ก่อน การอยู่กับสามีแก่ตายเสียดีกว่า นางจงกลับไปอยู่บ้านเก่าเสียเถิด”

หมายจะให้นางอมิตตาโกรธและหนีจากหมู่บ้านไปเสีย   

นางอมิตตาเสียใจ คับอกคับใจ นำคำด่าทอเสียดสีมาแจ้งชูชก และบอกว่า นางจะไม่อยู่ด้วยแล้ว จะขอกลับคืนไปอยู่บ้านเดิมดีกว่า ชูชกอาสาทำงานบ้านแทนทุกอย่าง แต่นางอมิตตาปนา ห้ามว่า  มีธรรมเนียมที่ไหนกัน ที่สามีจะทำงานบ้านแทนแม่บ้าน ทางที่ดีให้ชูชกออกไปหาทาสและทาสีมารับใช้นางจะดีกว่า ในที่สุดเทวดาดลใจให้นางใช้ชูชกไปขอชาลี-กัณหา สองกุมาร พระโอรสของพระเวสสันดรมาเป็นทาสช่วงใช้ และบังคับให้ชูชกไปขอสองกุมารจากพระเวสสันดร

ชูชกจำใจต้องไป เพราะนางอมิตตาปนาขู่ว่า หากไม่ไปนางจะแต่งตัวยั่วชายและมีสามีใหม่  ชูชกเดินทางไปสู่เมืองเชตุดรสีพี ถามข่าวหาพระเวสสันดร ก็ทราบว่าพระองค์เสด็จไปอยู่เขาวงกต

แม้ว่า ชูชกจะแก่เกินกว่าจะเดินทางไปเขาวงกตเพื่อขอสองกุมาร แต่เมื่อถูกเมียสาว ขู่บังคับเช่นนั้น ก็ต้องฝืนใจไป ในที่สุดชูชกก็หอบร่างแก่ไปถึงพระนครสีพี เมืองของพระเวสสันดร เพราะความรุกรี้รุกรนใคร่จะเดินทางไปให้ถึงพระเวสสันดรโดยเร็ว ทำให้ชูชกขาดความรอบคอบ ไม่เหมือนคราวก่อน ๆ ที่เดินทางมาขอทาน เห็นกลุ่มชนที่ใด เป็นถามถึงที่อยู่ของพระเวสสันดร พร้อมทั้งทางที่จะเดินไปให้ถึงที่หมายด้วย

ชาวเมืองสีพีเกลียดหน้านักขอเป็นทุนอยู่แล้ว ก็พาโลรี่เข้าใส่ชูชก ด่าว่า เจ้ามาเบียดเบียนพระเวสสันดรด้วยให้ท้าวเธอพระราชทานจนเกินไป ถึงถูกขับไล่ทั้งพระชายาและพระโอรสให้ออกไปอยู่วงกต แล้วเจ้ายังจะมาเอาอะไรอีก ต่างพากันถือไม้ค้อนก้อนดินขับไล่ชูชกหนีเข้าป่าไป

ฝ่ายชูชก เวลาหนีชาวเมืองสีพีขับไล่ ก็มุ่งหน้าไปทางเขาวงกต ขณะเดินเลาะลัดไปในไพรพง ก็ถูกสุนัขของพรานเจตบุตรไล่ล้อม ได้หนีขึ้นต้นไม้ นั่งบนค่าคบ พลางร้องไห้รําพันถึงคุณพระเวสสันดรเป็นอย่างมาก

ฝ่ายเจตบุตรเจ้าของสุนัขติดตามมา เห็นชูชกอยู่บนต้นไม้ ก็คิดว่า ชูชกจะมาร้าย คงจะไปทูลขอพระนางมัทรี หรือ พระโอรสเป็นแน่ ก็พลันคิดว่า จะต้องฆ่ามันเสีย จึงเดินเข้าไปใกล้ พลางน้าวหน้าไม้ขึ้น พร้อมกับร้องสำทับว่า แน่พราหมณ์  พวกแกเบียดเบียนพระเวสสันดรด้วยให้พระราชทานเกินไป จนพระองค์ต้องถูกขับไล่จากแคว้น เสด็จหนีไปอยู่เขาวงกต มนุษย์บัดซบอย่างแก ยังจะติดตามมาเบียดเบียนขอพระโอรสอีก เหมือนนกยางย่องตามหาปลาฉะนั้นหรือ ข้าจะไม่ไว้ชีวิตแก จะยิงแกให้ตายด้วยหน้าไม้นี้ 

ชูชกตกใจกลัวตาย จึงใช้อุบายหลอกเจตบุตรพร้อมด้วยการขู่ว่า

“ช้าก่อน เจตบุตร ข้าเป็นพราหมณ์เป็นราชทูต ซึ่งใคร ๆ ไม่ควรจะฆ่า จงฟังข้าก่อน บุคคลไม่ควรฆ่าราชทูตนี้เป็นประเพณีมาเก่าแก่ ดูก่อนเจตบุตร บัดนี้ชาวเมืองสีพีหายขัดเคืองแล้ว พระชนกก็ปรารถนาจะพบพระเวสสันดรปิโยรส พระราชชนนีก็ชรา นัยน์ตาก็มืดมนธ์ ท้าวเธอให้ข้าฯ เป็นราชทูต มาเชิญพระเวสสันดรพระโอรสกลับ ฉะนั้น เจ้าจงบอกแก่ว่า บัดนี้พระเวสสันดรอยู่ที่ไหน ? 

เจตบุตรดีใจหลงเชื่อในคำลวงของชูชก เชื่อว่า ชูชกเป็นราชทูตที่พระเจ้ากรุงสัญชัยพระราชบิดา ให้มาเชิญพระเวสสันดรกลับจริง จึงผูกสุนัขทั้งหลายไว้ แล้วเชิญชูชกลงจากต้นไม้ ให้นั่งที่มีใบไม้ลาด ให้โภชนาหารกิน ปฏิสันถารว่า

 “ท่านพราหมณ์ ลุงเป็นราชทูตมาเชิญพระเวสสันดรที่รักของข้าฯ ข้าฯ จะให้กระบอกน้ำผึ้งและเนื้อย่างแก่ลุง ข้าฯ จะบอกสถานที่พระเวสสันดรประทับอยู่ให้[1] 

หมายเหตุ

ผู้แต่งมหาชาติล้านนา สำนวนอินทร์ลงเหลากล่าวว่า การที่ชูชกได้อมิตตาผู้ยังอยู่ในวัยสาวรุ่น มาเป็นภรรยา เพราะชูชกได้นำดอกไม้ที่ยังตูม ๆ และทำการบูชาพระ ในเวลาตอนเช้าตรู่ แต่นางอมิตตา นำดอกบัวที่บานแล้วไปบูชาพระ แถมยังบูชาเวลากลางคืนอีก นางจึงได้ชายแก่ชราเป็นสามีคู่ครอง ดังความว่า

“บุญเฒ่าได้พำเพ็งมาเมื่อก่อน  ปู่พราหมณ์ได้เอาดอกไม้จี๋บูชาพระเจ้า

                        ในกาละเมื่อเช้ายามดี     มันจึงได้เมียสาวหนุ่มน้อย"

                        “ส่วนนางอมิตตาปันนา ได้เอาดอกบัวบานปูชาพระเจ้ายามค่ำ

                        ว่าแม่นวันยามมหาสูญ จึงได้เฒ่าหัวปูนหงอก ตามดวงดอกไม้อันนางทาน"

ที่เล่ามานี้ เป็นความเชื่อเกี่ยวกับการบูชาพระด้วยดอกไม้ตูม หรือ บาน ก็จะได้ครู่ครองที่ต่างวัย

ชูชกและนางอมิตตา หากพิจารณาแล้วจะเห็นว่า เป็นตัวละครที่น่าสนใจและมีความสำคัญต่อการดำเนินเรื่องอยู่มาก วรรณคดีมหาชาติ 13 กัณฑ์ เรื่องราวเกี่ยวกับชูชกก็มีปรากฏอยู่ถึง 5 กัณฑ์ คือ กัณฑ์ชูชก กุมาร จุลพน มหาพน และมหาราช เฉพาะในล้านนา กัณฑ์ชูชก กัณฑ์มหาราชซึ่งเป็นที่นิยมเทศน์ในงานต่าง ๆ เพราะมีความสนุกสนาน ชูชก มีส่วนสำคัญในการช่วยให้พระเวลสันดรได้บำเพ็ญทานบารมิได้ครบถ้วน แต่พวกเราก็มักนึกถึงชูชกในฐานะที่เป็นตัวละครที่เด่นในทางเป็นผู้ร้าย ส่วนนางอมิตตาก็นับว่าเป็นตัวละครที่สำคัญ เพราะเป็นจุดเริ่มต้นที่ผลักดันให้ชูชกด้นดั้น เข้าป่าไปขอสองกุมารจากพระเวสสันดรมาเป็นข้ารับใช้


            [1] พระธรรมโกศาจารย์ (ชอบ อนุจารีเถระ), เรื่องเดียวกัน, หน้า๑๔๗.

Leave a Comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *