
April 15, 2025
วัดเชียงทอง Wat Xieng Thong
พระอธิวัฒน์ รตนวณฺโณ, ดร. (Phra Athiwat Ratanavanno, Dr.)
วัดเชียงทองตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำโขงซึ่งตรงข้ามกับวัดลองคูณและตั้งอยู่ห่างจากปากแม่น้ำคาน ไปทางทิศใต้ประมาณ 300 เมตร เป็นวัดที่ตั้งอยู่ด้านเหนือของพระราชวังเก่า ถ้าไปตามเส้นทางที่สองนับจากริมน้ำโขงมา จะไปจรดกับรั้ววัดเชียงทอง ซึ่งเริ่มจากรั้ววังเก่าเป็นระยะประมาน 850 เมตร วัดเชียงทองเป็นวัดที่มีขนาดใหญ่วัดหนึ่ง และค้นหาได้สะดวก ไม่ว่าจะเป็นทางบก และทางน้ำ ทางบก เมื่อไปตามเส้นทางถนนศักรินทร์ มุ่งหน้าไปทางปากแม่น้ำคาน แล้วเลี้ยวซ้ายประมาณ 60 เมตร ก็จะเห็นวัดเชียงทองเลย ส่วนทางน้ำ เวลานั่งเรือตามลำแม่น้ำโขงมาถึงปากน้ำคานก็จะเห็นขั้นบันไดทางขึ้นไปหาวัดทันที ในด้านผังเมืองนั้น วัดเชียงทองเป็นวัดที่ตั้งอยู่ในเขตเมืองอนุรักษ์ในเขต ZPP – UA (ตามการกำหนดทางผังเมืองของหลวงบาง)
ตะวันตกติดกับเส้นทางริมน้ำโขงตอนใต้ติดกับเส้นทางร่วม และบ้านประชาชน ด้านตะวันออกเฉียงเหนือและตะวันออกเฉียงใต้มีขอบเขตติดกับบ้านประชาชน แต่จะมีทางเข้าสู่วัดโดยตรงซึ่งจะตรงกับถนนศักรินทร์
รูปที่ 1 ที่มา :แผนผังปกปักรักษาและทำให้มีคุณค่า (แผนกกรมมรดกโลกแขวงหลวงพระบาง, 2544: 3)
ภาพแผนผัง แสดงให้เห็นวัดเชียงทองขึ้นบัญชีประเภทอาคารทางด้านศาสนา ในรูปแบบหลวงพระบางบทรายงานนำเสนอของแผนกกรมมรดกโลกแขวงหลวงพระบาง แผนผังปกปักรักษาและทำให้มีคุณค่า ในหมวดแผนผังแต่ละหัวเมือง (แผนกกรมมรดกโลกแขวงหลวงพระบาง, 2544: 2)
รูปที่ 2 แสดงให้เห็นวัดเชียงทองขึ้นบัญชีประเภทวัสดุก่สร้างอาคาร เป็นแบบก่อิฐถือปูน (แผนกกรมมรดกโลกแขวงหลวงพระบาง, 2544: 3)
รูปที่ 3 แสดงหมายสีเขียวให้เห็นวัดเชียงทองขึ้นบัญชีประเภทการอนุรักษ์ รักษาในเกนดี 41.11% (แผนกกรมมรดกโลกแขวงหลวงพระบาง, 2544: 6)
รูปที่ 4 ภาพแผนผัง แสดงหมายวีเขียวให้เห็นวัดเชียงทองขึ้นบัญชีประเภทวัน เดือน ปี สร้าง ราวปี ค.ศ. 1559-1560 (พ.ศ. 2102-2103) (แผนกกรมมรดกโลกแขวงหลวงพระบาง,
2544: 7)
ประวัติความเป็นมาของวัดเชียงทอง
วัดเชียงทองวรวิหาร หรือว่าวัดเชียงทอง เป็นวัดสำคัญในหลวงพระบางที่มาของวัดนี้ถูกเล่ามาไว้สองนัยยะคือ นัยแรกถูกเรียกตามชื่อเมืองเชียงทองซึ่งออกเสียงมาจาก “เชียง” แปลว่า “เมือง” “ทอง” มาจากนาม “ต้นทอง” เพราะในเมืองก่อนอยู่วัดเชียงทองนี้มีต้นทองใหญ่ กว้าง 27 วา และสูง 117 วา (เจ้าคำมั่น วงกรัตนะ, 2507: 38) และ “..เรื่องเล่าอีกนัยหนึ่งของวัดเชียงทอง คือ เป็นบ่อทอง ต่อมาถมบ่อทองแล้วสร้างวิหารครอบไว้ และมีแร่ทองคำอยู่ในลำน้ำคาน เรียกดอนควายฟูม มีผู้ไปร่อนทุกปี และที่เหนือปากอูมีห้วยคำน้ำบ่อ ฝรั่งเศสเคยไปทำเหมืองที่นั้น” (สุจิตต์ วงษ์เทศ, 2530: 36) นอกนั้นอยังมีแร่ธาตุอื่นๆ เช่น เหล็ก ตะกั่ว ทองแดง เป็นต้น
วัดเชียงทอง สร้างขึ้นเมื่อปี ค.ศ. 1559-1560 ภายใต้การนำของพระเจ้าไชยเชษฐาธิราช วัดเชียงทองเป็นวัดที่ใหญ่ที่รวบรวมศิลปวัฒนธรรมของแต่ละยุค มาประยุกต์เข้ากับศิลปะสกุลช่างพระเจ้าไชยเชษฐาธิราช วัดเชียงทองมีพื้นที่โดยรวม 6500 ตารางเมตร วัดนี้มีประวัติความเป็นมาที่ยาวนาน เป็นวัดที่มีรูปทรงสวยงาม และแตกต่างจากวัดอื่นๆซึ่งเป็นภูมิปัญญาของช่างในสมัยนั้น การออกแบบไม่ว่าจะเป็นแผนผัง ทรงหลังคา ตลอดทั้งงานตกแต่งต่างๆ ล้วนแล้วแต่มีความผสมผสาน ไม่ว่าจะเป็นเทคนิคการผสมปูนปะทายแบบโบราณ และวิธีการเข้าไม้ด้วยการบาก เข้าลิ่ม ใช้เดือยไม้ขัดต่าง ๆ วัดนี้มีพระพุทธรูปสำคัญประทับอยู่ เป็นวัดที่มีความหมายสำคัญทางด้านการเมือง และเป็นศูนย์รวมศิลปวัฒนธรรมอันละเอียดอ่อนของชาวหลวงพระบาง ก็คือชาวลาวทั้งชาติ (สุจิตต์ วงษ์เทศ, 2530: 38-39)
วัดเชียงทองมีความหมายทางการเมือง และประวัติศาสตร์ ก็เพราะว่าหลายยุคผ่านมา กษัตริย์ลาวจะเสด็จพระราชดำเนิน ณ ที่ใด ก็ต้องมาสักการะพระพุทธรูปที่วัดนี้ เมื่อเสด็จกลับมาก็มาขึ้นที่ท่าเชียงทองและเข้ามาสักการะพระพุทธรูปก่อน จึงเสด็จกลับพระราชวัง ตลอดถึงอาคันตุกะที่เป็นประมุขต่างประเทศที่เข้ามาในลาว ก็ต้องมาขึ้นรออยู่ที่วัดเชียงทอง มาสักการะองค์พระเสียก่อน แล้วค่อยไปขึ้นรถไปเพื่อเข้าพบพระเจ้าแผ่นดิน
วัดเชียงทองเป็นศูนย์รวมศิลปะและสถาปัตยกรรม เพราะว่าวัดนี้ได้รวบรวมเอาศิลปะสถาปัตยกรรมของแต่ละยุคมาประดิษฐ์ประยุกต์และสร้างขึ้นอย่างมีความสวยงามเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวและไม่เหมือนกับวัดอื่นๆ ตลอดถึงการตกแต่งด้วยศิลปะอันเลิศล้ำอ่อนช้อยในการตกแต่งนี้ล้วนแล้วแต่ สอดแทรกด้วยความหมายลึกซึ้งไม่ว่าจะเป็นผลงานด้านจิตรกรรม พิเศษไปกว่านั้นก็คือกันการนำวัสดุที่มีค่าเช่น ดิน ไม้ สีธรรมชาติแบบพื้นเมืองโบราณ มีการแกะสลักที่สวยงามโดยเฉพาะ แขนนาง บานประตู สีหน้าท่าทาง ตลอดถึงการติดมุกแก้วอันสวยงาม ระยะเวลาต่อมาวัดนี้ก็ได้รับการอุปถัมภ์เป็นพิเศษจากเจ้าชีวิตศรีสว่างวงศ์และเจ้าชีวิตศรีสว่างวัฒนา และมีพ่อเฒ่าทิดจันทร์เป็นช่างใหญ่ประจำวัง (เจ้าคำมั่น วงกรัตนะ, 2507: 31)
งานพุทธศิลป์ของวัดนี้มีโครงสร้างอาคารเอก(สิม)ต่ำเตี้ยตามแบบของลาวล้านช้างดั้งเดิม หลังคาช้อนทับกันเป็นสามตับ บนสุดของหลังคาประดับด้วย ช่อฟ้าทรงปราสาท 17 หลัง และโง่หัวนาค ส่วนทางด้านหน้า หน้าจั่ว ประดับด้วยรวงผึ้ง แกะลวดลายดอกต่างๆเป็นนูนต่ำ จิตรกรรมฝาผนัง ลวดลายประดับใช้เทคนิคแบบพอกคำบนพื้นรักสีดำ ได้ถูกนำมาประดับใส่ฝาผนังด้านใน ยกเว้นอยู่ตีนฝาผนังด้านใต้ของทิศตะวันตก ซึ่งยังคงรักษาร่องรอยของรูปแบบเดิม คือพอกคำลงบนพื้นสีแดงชาด อยู่หน้าจั่วด้านหลังของสิม รูปแบบการประดับตกแต่งด้วยแก้วโมเสค ติดทับแก้วลงบนพื้นสีแดง ได้รับการซ่อมคืนใหม่ทังหมด แต่ก็ยังคงรักษาไว้ซึ่งโทนเส้นสีดั้งเดิมไว้อย่างครบถ้วน รูปภาพที่แต้ม(วาด) บนหัวเสานั้นเป็นรูปขององพระพุทธเจ้า และรูปของพระเจดีย์หนึ่งองค์ ซึ่งแสดงถึงตอนที่พระพุทธเจ้าเสด็จากสวรรค์ชั้นดาวดึงษ์ พร้อมด้วยเทพอีกหลายพระองค์ และเพื่อเป็นอนุสรณ์ระลึกฤๅษีทังสองพระองค์ที่เป็นผู้หมายสถานที่สร้างเมือง ของอาณาจักรในอานาคตนายช่างได้ทำในรูปแบบของ “ต้นทอง”ไว้เป็นหลักฐาน
วัดเชียงทองเป็นวัดหัวนาค หรือหัวเมืองศรีสัตนาค ราชธานี มหานครของล้านช้างในสมัยที่มีกษัตริย์ปกครองในเมื่อก่อนวัดนี้ถือได้ว่ามีความสำคัญเป็นอย่างมากมีศักดิ์เป็นวัดหลวงจึ่งมีความผูกพันกับบรรดาพระมหากษัตริย์ลาว เช่น เป็นทางออกในการเสด็จประพาสทางชลธารทางน้ำ หรือแม่แต่จะเสด็จออกจากพระตำหนัก ราชวังหลวงไปเยือนต่างประเทศ หรือจะขึ้นครองราชย์สมบัติ วัดนี้ก็จะถูกจัดเป็นที่รองรับงานราชพิธีทางศาสนาตามธรรมเนียมลาวเดิมโบราณ ตลอดถึงเป็นที่ต้อนรับแขกอาคันตุกะคนสำคัญจากต่างประเทศจะเข้าเฝ้าพระเจ้าฟ้าเจ้าแผ่นดินก็ต้องมาทำพิธีให้พระสงฆ์เจริญมงคลคาถายู่วัดนี้ พร้อมรับมอบช่อดอกไม้ที่นี้แล้วค่อยเข้าเฝ้ากษัตริย์ตามลำดับไป
วัดเชียงทองถือได้ว่าเป็นวัดเดียวที่ไม้โดนไฟเผาไหม้ในปี พ.ศ. 2430 และเป็นเวลาต่อ วัดเชียงทองได้ถูกบูรณะซ่อมแปลงอีก 2 ครั้ง ครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. 2471 ครั้งที่ 2 เมื่อปี พ.ศ. 2495-2503 ในราชสมัยของเจ้าศรีสว่างวงศ์ และต่อมาได้บูรณะเป็นรอบที่ 3 เมื่อ พ.ศ. 2527 ลุมาถึงปี พ.ศ. 2538 เมืองหลวงพระบางได้ถูกยกขึ้นเป็นเมืองมรดกโลก และอาคารของวัดเชียงทองหลายหลังก็ได้ถูกบันทึกเข้าในบัญชีการอนุรักษ์กรมมรดกโลกหลวงพระบาง และด้วยความเอาใจใส่ของรัฐบาลและภากส่วนที่เกี่ยวข้อง ในสิมวัดเชียงทองได้ถูกบันทึกลงในบัญชีหมายเลขที่:445 และด้วยการที่เอาใจใส่ของภาครัฐช่วยกันอนุรักษ์ รักษาไว้อย่างครบถ้วนสมบูรณ์จึ่งสามารถเอาชนะใจกรรมการส่วนกลางได้ ลุมาถึง พ.ศ. 2554 รัฐบาล สปป.ลาว ก็ได้รับการช่วยเหลือจากกทอนบูรณะของสถานทูตอเมริกา วัตถุประสงค์เพื่อนำมาบูรณะซ่อมแซมวัดเชียงทอง โดยได้มีการแบ่งออกเป็นสองงวดคือ งวดที่1 ปี พ.ศ. 2554 รวมมูลค่า 115,450,00 US และงวดที่ 2 ปี พ.ศ. 2555-2556 รวมมูลค่า 215,00,00 US โดยในแต่ละงวดของการบูรณะซ่อมแซมก็ได้รับการเอาใจใส่ ติดตามงานอย่างใกล้ชิดจากคณะรัฐบาล และโดยมีการแต่งตั้งจากคณะกรรมการโครงกาน คณะวิชาการเฉพาะทาง ติดตามหน้างานอย่างใกล้ชิดเป็นประจำ (แผนกกรมมรดกโลกแขวงหลวงพระบาง, 2544: 10)
สรุป แล้วตลอดช่วงที่อยู่ในราชสมัยที่หลวงพระบางเป็นเมืองเอกมีกษัตริย์ปกครองวัดเชียงทองก็ได้รับการอุปถัมภ์ค้ำจุนจากพระเจ้ามหาชีวิตหลวงพระบาง ด้วยดีเสมอมาเนื่องด้วยความเลื่อมใสศรัทธาเป็นอันมากต่อพุทธศาสนา รวมไปถึงพระสงฆ์ ประชาชนชาวเมือง ชาวบ้านเชียงทอง ได้ทำให้อารามแห่งนี้คงความวัฒนาถาวรมาได้ถึง 400 กว่าปี ในราชสมัยที่มีกษัตริย์ปกครองบ้านเมือง ลุมาถึง พ.ศ. 2518 ล้านช้างได้รับการสถาปนาจากระบอบราชาธิราช มาเป็นระบอบประชาธิปไตยประชาชนลาว พรรค รัฐบาลลาว ตลอดถึงประชาชนบรรดาเผ่า ชาวหลวงพระบางก็ได้รวมแรงร่วมใจกันบูรณะรักษาเรื่อยมาให้งดงามจวบจนถึงปัจจุบัน
ตำแหน่งที่ตั้งของวัดเชียงทองตั้งอยู่ริมแม่น้ำมีลักษณะเป็นเนินสูงหากมองจากท่าน้ำหากมองขึ้นมาผ่านบันไดขึ้นไปจะเห็น “ช่อฟ้า" (ปราสาทเฟื้อง) อันเปรียบเหมือนเขาพระสุเมรุเหมือนเดินขึ้นสู่สรรค์ ที่หัวบันไดทั้งสองข้างมีรูปปั้นคล้ายแมวหรือเสือสีขาวตัวใหญ่ 4 ตัวเฝ้าอารักขาอยู่เป็นเหมือนการบอกผู้มาเยือนว่ากำลังก้าวเข้าป่าหิมพานต์สู่ดินแดนแห่งสรวงสวรรค์ นอกจากนี้แล้วที่ตั้งของวัดนี้ยังเป็นตำแหน่งของหัวเมืองที่กำหนดผังโดยฤษี ตามตำนานเล่าว่าที่แห่งนี่เดิมมีต้นทองอยู่มากและมีอยู่ต้นหนึ่งมีขนาดใหญ่สูงถึง 117 วาวัดรอบต้นได้ 27 วา การตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำหัวเมืองยังถือเป็นประตูเมืองของแขกบ้านแขกเมืองผู้มาเยือนดังจะเห็นจากการเดินทางของเจ้านายจากสยามก็จะต้องมาขึ้นที่ท่าน้ำวัดเชียงทอง และในการเดินทางจากไปก็เช่นกันทั้งแขกต่างเมืองต่างรัฐหรือเจ้านายในหลวงพระบางเองก็จะมาลงเรือที่ท่าน้ำวัดนี้พร้อมกับประกอบพิธีกรรมบายศรีเพื่อโชคลาภและความปลอดภัยของผู้เดินทาง วัดเชียงทองจึงมีผลต่อภาพความทรงจำทางสถานที่ของแขกบานแขกเมืองด้วย
รูปที่ 5 แผนผัง วัดเชียงทอง
แผนผังและองค์ประกอบวัด กับภูมิศาสตร์จักรวาล
ภายในวัดถูกแบ่งออกเป็น 2 เขตคือเขตพุทธาวาส และเขตสังฆาวาส เขตพุทธาวาสเป็นเขตนามธรรมที่หมายถึงดินแดนแห่งเขาพระสุเมรุ เขตสังฆาวาสเป็นเขตที่อยู่อาศัยของพระสงฆ์อันได้แก่กุฏิ การวางผังจะให้ความสำคัญกับเขตพุทธาวาสก่อนโดยเน้นที่วิหารหรือเจดีย์เป็นอันดับแรกจากนั้นเป็นโบสถ์และหอไตร
องค์ประกอบของศาสนสถานเมืองหลวงพระบาง (วรลัญจก์ บุญยสุรัตน์, 2547: 19) การสร้างวัดมีการแบงเขตออกเป็น 2 ส่วน คือ เขตพุทธาวาส และเขตสังฆาวาส เช่นเดียวกับวัดในพุทธศาสนาโดยทั่วไป
1) เขตพุทธาวาส เป็นเขตสำคัญที่เกี่ยวข้องกับพระพุทธเจ้าและเป็นเขตที่ผู้คนเข้ามาประกอบการบุญ จึงประกอบไปด้วยอาคารที่ใช้เป็นพื้นที่ประกอบการบุญโดยมีพระพุทธเจ้าเป็นประธาน ซึ่งในที่นี้ก็คือ วิหาร ชาวหลวงพระบางเรียกว่า อาราม หรือ สิม และพระธาตุเจดียื (ทาด) ที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุหรืออัฐิของกษัตริย์และเจ้านาย
2) เขตสังฆาวาส เป็นเขตสำคัญรองลงมา จะเป็นพื้นที่เกี่ยวข้องกับพระภิกษุสงฆ์ จึงประกอบไปด้วย กุฏิสงฆ์ (กะดี) หอกลอง หอฉัน เป็นต้อน
เมื่อชาวบ้านเข้ามาทำบุญที่วัดชาวบ้านมักจะถอดรองเท้าตั้งแต่หน้าประตูโขง เป็นการแสดงความนอบน้อมเช่นนี้เคยเป็นธรรมเนียมปฏิบัติของคนไทยในอดีตที่แทบจะไม่พบเห็นกันแล้วในปัจจุบัน นอกจากธรรมเนียมปฏิบัติอันงดงามนี้แล้ว
แผนผังของวัดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ถูกจัดวางโดยอิงภูมิจักรวาลที่เขาพระสุเมรุเป็นศูนย์กลาง ถัดจากนั้นมาเป็นเขาสัตบริภัณฑ์ทั้งเจ็ดยอดเรียงรายเป็นชั้นๆ ออกไปโดยมีนทีสีทันดรคันอยู่ระหว่างภูเขาแต่ละชั้น จากนั้นเป็นมหาทวีปทั้ง 4 ทิศอันได้แก่ อุตตรกุรทวีป ตั้งอยู่ทางทิศเหนือ อมรโคยานทวีป ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตก ชมพูทวีป ตั้งอยู่ทางทิศใต้ติดกับกำแพงจักรวาล และบุรพวิเทหทวีปอยู่ทางทิศตะวันออก พร้อมกับอนุทวีปอีก 4 แห่งแทรกอยู่ระหว่างมหาทวีปทั้ง 4 ถัดจากทวีปเป็นมหานทีสีทันดร และสุดท้ายก็คือกำแพงของจักรวาลตามภูมิจักรวาลแบบล้านนา (กรกนก รัตนวราภรณ์, 2545: 44) แล้วแผนผังวัดที่สมบูรณ์นั้นจะมีการวางแนวแกนในทิศตะวันออก – ตะวันตก มีเจดีย์หลวงอันหมายถึงเขาพระสุเมรุ เป็นศูนย์กลางของผังและมีองค์ประกอบอื่นอยู่รายรอบทั้ง 8 ทิศ โดยวิหารหลวงเป็นพุทธสถานสำคัญรองลงมาซึ่งจะตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกของเจดีย์และหันหน้าไปทางตะวันออกเพื่อให้พระประธานหันหน้ารับแสงพระอาทิตย์ในตอนเช้าตามความเชื่อเรื่องการตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า ทิศทั้งสามที่เหลือจะเป็นที่ตั้งของวิหารทิศ ประตูทางเข้าวัดเปรียบเสมือนดินแดนของพระรัตนตรัยที่เชื่อมไปยังสู่จักรวาลทั่วไปแล้วจะนิยมสร้างให้มี 3 ประตูโดยเว้นทิศตะวันตก ประตูทางเข้าทั้ง 3 จะเป็นแกนเดียวกันกับเจดีย์และวิหารหลวง ประตูโขงหรือทางเข้าสำคัญจะตั้งอยู่ด้านทิศตะวันออก เมื่อก้าวข้ามประตูโขงไปจะเป็นป่าหิมพานต์ซึ่งอยู่ขอบทางตอนเหนือของชมพูทวีป ดังนั้นประตูโขงส่วนมากจึงประดับไปด้วยสัตว์หรือต้นไม้ตามเทพนิยาย
ผังของวัดเชียงทองมีวิหารหลวงเป็นศูนย์กลางแทนเขาพระสุเมรุ องค์ประกอบของวัดเชียงทองที่พบคือ สิม (วิหาร) ทาด (พระธาตุ) อุมงหรืออูบมูง บานทราย ประตูโขง หอกลอง กุดติ (กุฏิพระ) หอไหว้ หอเรือ (โรงเก็บเรือ) ต้นโพธิ์ ห้องน้ำ เฮือนคัว (โรงคัว) หอเทวดาหรือหอผีเสื้อวัด กำแพงวัด สิ่งพิเศษที่พบต่างไปจากวัดทั่วไปคือ หอลาดสะลด (โรงเก็บราชรถ) สิ่งที่ไม่พบคือ หอไต (หอไตร) หอแตก (ศาลา) ฮอยพะบาด (รอบพระพุทธบาท) หอละคัง (หอระฆัง) สาละ (ศาลา) จมกม (โรงเดินจงกรม) โฮงเฮียน (โรงเรียน) แท่นโพธิ์ เจดีย์หรือช่องเก็บอัฐิคนตายที่เป็นสามัญชน เกยช้าง (ที่เทียบช้างทรง) และน้ำส้าง (บ่อน้ำ) เดิมในวัดเชียงทองมีบ่อน้ำอยู่แต่ถูกถมไป
เอกสารการอ้างอิง
กรกนก รัตนวราภรณ์. (2545). จักรวาลคติในการวางผังวัดหลวงล้านนา : สัญลักษณ์สะท้อนอำนาจรัฐในอนุภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ช่วงพุทธศตวรรษที่ 21: ต้นฉบับสมบูรณ์โครงการจักรวาลคติ. กรุงเทพมหานคร: สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย.
เจ้าคำมั่น วงกรัตนะ. (2507). ตำนานเมืองหลวงพระบาง. หลวงพระบาง: เวียงกรุง.
แผนกกรมมรดกโลกแขวงหลวงพระบาง. (2544). ประวัติวัดเชียงทอง. หลวงพระบาง: กระทรวงวัฒนธรรม.
วรลัญจก์ บุญยสุรัตน์. (2547). ชื่นชมสถาปัตย์วัดในหลวงพระบาง. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพมหานคร: เมืองโบราณ.
สุจิตต์ วงษ์เทศ. (2530). เจ๊กปนลาว. กรุงเทพมหานคร: ศิลปวัฒนธรรม.
แผนกกรมมรดกโลกแขวงหลวงพระบาง. (2544). แผนผังปกปักรักษาและทำให้มีคุณค่า ในหมวดแผนผังแต่ละหัวเมือง. หลวงพระบาง: กระทรวงวัฒนธรรม.